Mangkorn Phromyothi
Quick Facts
Biography
พลเอก มังกร พรหมโยธี หรือ หลวงพรหมโยธี (นามเดิม มังกร ผลโยธิน; 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2439 – 24 มีนาคม พ.ศ. 2509) เป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และอดีตรัฐมนตรี
ประวัติ
มังกร ผลโยธิน เกิดเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2439 ณ บ้านบางขุนเทียน ตำบลบางขุนเทียน อำเภอบางขุนเทียน จังหวัดธนบุรี เป็นบุตรหมื่นสาธิตพิทักษ์ (เทียน ผลโยธิน) และนางอุ่น ผลโยธิน มีพี่น้องร่วมบิดามารดาคือ เพ็ชร, หอม และพู ผลโยธิน
พลเอก มังกร พรหมโยธี เริ่มศึกษาที่โรงเรียนวัดอรุณราชวราราม แล้วไปศึกษาต่อที่โรงเรียนทวีธาภิเศกจนจบชั้นมัธยมปีที่ 6 แล้วย้ายมาศึกษาอยู่ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยจนจบชั้นมัธยมบริบูรณ์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2455 ได้สมัครเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยทหารบก ณ โรงเรียนนายร้อยทหารบก (ปัจจุบันคือโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า) สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ออกมารับราชการเป็นนายทหารสัญญาบัตร
การทำงาน
มังกร ผลโยธินเริ่มรับราชการในกองทัพบกตั้งแต่ยศร้อยตรี ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ หลวงพรหมโยธี ในปีพ.ศ. 2471 และเจริญก้าวหน้าจนถึงพลเอก มีตำแหน่งสูงสุดคือ รองผู้บัญชาการทหารบก ในกองทัพบก รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในกองบัญชาการทหารสูงสุด
พลเอก มังกร พรหมโยธี รับตำแหน่งรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อพ.ศ. 2481 เป็นรัฐมนตรีไม่ประจำกระทรวง ต่อมาได้ย้ายไปเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และย้ายไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในเวลาต่อมาเมื่อรัฐบาลจะยกเลิกบรรดาศักดิ์ไทย หลวงพรหมโยธินในฐานะรัฐมนตรีพร้อมด้วยคณะรัฐมนตรีชุดที่ 9 จึงลาออกจากบรรดาศักดิ์ โดยกลับไปใช้ราชทินนามเป็นนามสกุลได้ว่า มังกร พรหมโยธี เมื่อ พ.ศ. 2484
ต่อมาย้ายกลับมาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมอีกครั้ง พ.ศ. 2485 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พ้นจากตำแหน่งไปเมื่อ พ.ศ. 2487
ต่อมาในพ.ศ. 2491 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ย้ายมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอีกครั้งใน พ.ศ. 2492 เมื่อพ.ศ. 2494 ย้ายกลับไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และพ้นจากตำแหน่งไปเมื่อ พ.ศ. 2500
นอกจากนี้ พลเอก มังกร พรหมโยธี ยังเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในชุดที่ 8 สมาชิกวุฒิสภาในชุดที่ 1 และชุดที่ 2
ครอบครัว
พลเอกมังกร พรหมโยธี สมรสกับคุณหญิงทองเจือ พรหมโยธี (สกุลเดิม ศุภชลัสถ์) เมื่อ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2462 มีบุตรธิดา คือ
- พันเอก กำจร พรหมโยธี
- นงโภช พรหมโยธี
- ทินกร โปษยานนท์
- มณฑา พรหมโยธี
- เกียรติกร พรหมโยธี
- ร้อยเอก เจตกมล พรหมโยธี
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2485 พลเอกมังกร พรหมโยธี ได้มีบุตรชายอีก 2 คน ซึ่งเกิดจากหม่อมเจ้าบรรเจิดวรรณวรางค์ วรวรรณ ซึ่งเป็นอนุภรรยา คือ
- กำจรเดช พรหมโยธี
- เจตกำจร พรหมโยธี
พลเอกมังกร พรหมโยธี ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2509 ณ โรงพยาบาลโรงงานยาสูบ พระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2509
เกียรติยศ
บรรดาศักดิ์
- 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2471: หลวงพรหมโยธี
- 5 ธันวาคม พ.ศ. 2484: ลาออกจากบรรดาศักดิ์
ยศทหาร
- 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2458 เป็น ว่าที่ร้อยตรี
- 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2459 เป็น ร้อยตรี
- 24 เมษายน พ.ศ. 2463 เป็น ร้อยโท
- 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2470 เป็น ร้อยเอก
- 1 เมษายน พ.ศ. 2476 เป็น พันตรี
- 1 มกราคม พ.ศ. 2477 เป็น พันโท
- 1 เมษายน พ.ศ. 2481 เป็น พันเอก
- 1 มกราคม พ.ศ. 2482 เป็น นาวาเอก, นาวาอากาศเอก
- 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 เป็น พลตรี, พลเรือตรี, พลอากาศตรี
- 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2484 เป็น พลโท
- 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2486 เป็น พลเรือโท, พลอากาศโท
- 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2493 เป็น พลเอก
- 16 เมษายน พ.ศ. 2495 เป็น พลเรือเอก, พลอากาศเอก
เครื่องอิสริยาภรณ์
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย
- พ.ศ. 2486 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)
- พ.ศ. 2495 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)
- พ.ศ. 2496 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) (ฝ่ายหน้า)
- พ.ศ. 2484 – เหรียญชัยสมรภูมิ สงครามอินโดจีน (ช.ส.)
- พ.ศ. 2486 – เหรียญชัยสมรภูมิ สงครามมหาเอเชียบูรพา (ช.ส.)
- พ.ศ. 2477 – เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ (พ.ร.ธ.)
- พ.ศ. 2486 – เหรียญช่วยราชการเขตภายใน การรบสงครามมหาเอเชียบูรพา (ช.ร.)
- พ.ศ. 2498 – เหรียญราชการชายแดน (ช.ด.)
- พ.ศ. 2473 – เหรียญจักรมาลา (ร.จ.ม.)
- พ.ศ. 2481 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 8 ชั้นที่ 2 (อ.ป.ร.2)
- พ.ศ. 2496 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 ชั้นที่ 2 (ภ.ป.ร.2)
- พ.ศ. 2464 – เหรียญบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 6 (ร.ร.ศ.6)
- พ.ศ. 2468 – เหรียญบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 7 (ร.ร.ศ.7)
- พ.ศ. 2493 – เหรียญบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 9 (ร.ร.ศ.9)
- พ.ศ. 2475 – เหรียญเฉลิมพระนคร 150 ปี (ร.ฉ.พ.)
เครื่องอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ
- ฝรั่งเศส:
- พ.ศ. 2483 – เครื่องอิสริยาภรณ์เลฌียงดอเนอร์ ชั้นที่ 2 นายทัพ
- ญี่ปุ่น:
- พ.ศ. 2483 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์มงคลรัตน์ ชั้นที่ 1 สายสะพาย
- ไรช์เยอรมัน:
- พ.ศ. 2484 – เครื่องอิสริยาภรณ์อินทรีเยอรมัน ชั้นที่ 2
- บริเตนใหญ่:
- พ.ศ. 2496 – เหรียญพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2
- อิตาลี:
- พ.ศ. 2498 – เครื่องอิสริยาภรณ์กิตติคุณแห่งสาธารณรัฐอิตาลี ชั้นที่ 1
สถานที่อันเนื่องด้วยนาม
- อำเภอพรหมโยธี (ปัจจุบันคืออำเภอสังแก ประเทศกัมพูชา)