Phuang Soowannarad
Quick Facts
Biography
นายพ่วง สุวรรณรัฐ (11 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 - 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543) เป็นอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร และรัฐบาลศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ และเป็นอดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย
ประวัติ
นายพ่วง สุวรรณรัฐ เกิดเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 ณ อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นบุตรของนายรื่น และนางทองอยู่ สุวรรณรัฐ มีพี่น้องร่วมบิดา-มารดา 2 คนคือ ขุนสุวรรณรัตนราช (เชย สุวรรณรัฐ) และนางแช่ม ณ นคร จบชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ระดับอุดมศึกษาเริ่มที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2475 จนถึงชั้นปีที่ 2 จึงโอนไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง จนสำเร็จการศึกษา และได้รับพระราชทานปริญญาธรรมศาสตรบัณฑิตในปี พ.ศ. 2477 นายพ่วง สุวรรณรัฐ ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2543 ณ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ กรุงเทพมหานคร สิริรวมอายุ 89 ปี 4 เดือน
ชีวิตครอบครัว
นายพ่วง สุวรรณัฐ สมรสกับท่านผู้หญิงประสารสุวรรณ สุวรรณรัฐ (นามเดิม : หม่อมราชวงศ์ประสารสุวรรณ ทองแถม) เป็นธิดาของหม่อมเจ้าทองเชื้อธรรมชาติ ทองแถม กับหม่อมเจ้าพันธ์สิหิงค์ ทองใหญ่ เมื่อปี พ.ศ. 2484 มีบุตรธิดา 5 คน คือ
- ท่านผู้หญิงพรรณวดี จุฑารัตนกุล นางสนองพระโอษฐ์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมรสกับ นายจเร จุฑารัตนกุล อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นพ่อและสามีของนักแสดงสาวรุ่นใหญ่ชื่อดัง อ้อม พิยดา จุฑารัตนกุล
- นางพิยดา สุวรรณรัฐ ประกอบอาชีพอิสระ สมรสกับนายเฮนริค แลงเฟลด์
- นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี สมรสกับท่านผู้หญิงทัศนียา (โฆวินทะ)
- นางภราไดย สุวรรณรัฐ สมรสกับ นายทินกร หิรัญพฤกษ์ ซึ่งมีลูกชายเป็นดารานักแสดงหนุ่ม "ภูริ หิรัญพฤกษ์"
- นายพระนาย สุวรรณรัฐ สมรสกับ ทิพวิภา กัมปนาทแสนยากร
บทบาทการเมือง
นายพ่วง สุวรรณัฐ เป็นข้าราชการฝ่ายปกครอง เคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ในระหว่างปี พ.ศ. 2495 ถึงปี พ.ศ. 2501 มีผลงานที่โดดเด่นคือ ด้านการปราบปราม กรณีปิดล้อมตลาดนัดท่ามกลางคนนับพัน ปิดล้อมหมู่บ้าน ฉุดเอาครูหญิงไปทำมิดีมิร้ายกลางวัน ปล้นเรือโดยสารในทะเลสาบและทะเลหลวง ตั้งก๊กเก็บเงินค่ารักษาความเรียบร้อยจากบ้านเรือนหลังละห้าสิบสตางค์ต่อเดือน
นายพ่วง เคยได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาในวุฒิสภาไทย ชุดที่ 3 และวุฒิสภาไทย ชุดที่ 4
ต่อมาเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย ในระหว่างปี พ.ศ. 2511 ถึงปี พ.ศ. 2515 และในเดือนธันวาคมของปีเดียวกัน นายพ่วง ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร (ครม.32) และในรัฐบาลศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ (ครม.33)
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
พ่วง สุวรรณรัฐ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้งไทยและต่างประเทศ ดังนี้
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย
- พ.ศ. 2511 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)
- พ.ศ. 2508 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)
- พ.ศ. 2509 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) (ฝ่ายหน้า)
- พ.ศ. 2531 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ
- พ.ศ. 2486 – เหรียญชัยสมรภูมิ สงครามมหาเอเชียบูรพา (ช.ส.)
- พ.ศ. 2517 – เหรียญพิทักษ์เสรีชน ชั้นที่ 1 (ส.ช.)
- พ.ศ. 2485 – เหรียญช่วยราชการเขตภายใน การรบสงครามอินโดจีน (ช.ร.)
- พ.ศ. 2502 – เหรียญราชการชายแดน (ช.ด.)
- พ.ศ. 2502 – เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)
- พ.ศ. 2501 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 ชั้นที่ 3 (ภ.ป.ร.3)
- พ.ศ. 2511 – เหรียญราชรุจิทอง รัชกาลที่ 9 (ร.จ.ท.9)
- พ.ศ. 2504 – เหรียญกาชาดสมนาคุณ ชั้นที่ 1 (เหรียญทอง)
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ
- เนเธอร์แลนด์ :
- พ.ศ. 2507 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์ออเรนจ์-นัสเซา ชั้นที่ 2
- เบลเยียม :
- พ.ศ. 2507 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎเบลเยียม ชั้นที่ 2
- มาเลเซีย :
- พ.ศ. 2507 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์ปังกวน เนการา ชั้นที่ 3
- ญี่ปุ่น :
- พ.ศ. 2509 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์มงคลรัตน์ ชั้นที่ 2
- ไต้หวัน :
- พ.ศ. 2509 – เครื่องอิสริยาภรณ์ดาราอันสุกสกาว ชั้นที่ 2
- สวีเดน :
- พ.ศ. 2509 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์ดาวขั้วโลก ชั้นที่ 3 ตริตาภรณ์