Jinda Sirimanont
Quick Facts
Biography
จินดา ศิริมานนท์ (6 ธันวาคม พ.ศ. 2460 - 26 เมษายน พ.ศ. 2556) นักเขียนชาวไทย เป็นภริยาและเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการทำงานของ สุภา ศิริมานนท์ นักหนังสือพิมพ์แนวหน้าของไทย
จินดา ศิริมานนท์ มีนามเดิมว่า จินดา สุนทรโรหิต เป็นบุตรสาวของหลวงสุภาเทพ (โต สุนทรโรหิต) ยกระบัตร์ศาลอุทธรณ์จบการศึกษาด้านการพยาบาล พบกับสุภา ศิริมานนท์ และแต่งงานกันเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2486
จินดา ช่วยงานการทำหนังสือของสุภามาโดยตลอด ช่วง พ.ศ. 2486-2488 เมื่อสุภา ศิริมานนท์ เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ "นิกรวันอาทิตย์" จินดาทำหน้าที่ช่วยคัดเลือกเรื่อง เขียนบทวิจารณ์และแนะนำหนังสือ ใช้นามปากกาว่า "จ.ส.ร" (ย่อมาจาก จินดา สุนทรโรหิต) ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สุภาก่อตั้งนิตยสาร "อักษรสาส์น" ระหว่าง พ.ศ. 2492-2495 เป็นนิตยสารหัวก้าวหน้า ซึ่งมีเนื้อหาแนวสังคมนิยมในสมัยนั้น จินดาร่วมจัดทำนิตยสารอักษรสาส์นในตำแหน่งผู้จัดการ มีหน้าที่เขียนแนะนำและวิจารณ์หนังสือ จนกระทั่งนิตยสารถูกสั่งปิด และสุภา ศิริมานนท์ ถูกจับกุมด้วยข้อหากบฏสันติภาพ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 ถูกคุมขังและสอบสวนอยู่ 60 วัน
จินดา ศิริมานนท์ หันมาทำสถานรับเลี้ยงเด็กเพื่อหารายได้พิเศษที่บ้าน และทำต่อเนื่องมาประมาณ 30 ปี จนกระทั่งสุภา ศิริมานนท์เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2529 จินดาได้ก่อตั้งกองทุนชื่อ กองทุนสุภา ศิริมานนท์ เพื่อเผยแพร่ประวัติชีวิตและงานของสามี โดยจัดพิมพ์ผลงานของสุภา เช่น "เหยียบยุโรป", "แคปิตะลิสม์", "เจ็งกิ๊ซข่าน", "วรรณสาส์นสำนึก" รวมทั้งผลักดันให้มีการจัดพิมพ์หนังสือ ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข? เป็นนวนิยายที่สุภา ศิริมานนท์ เขียนไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2496 แต่ไม่ได้เคยได้ตีพิมพ์ เพราะไม่มีสำนักพิมพ์ใดกล้าจัดพิมพ์ เนื่องจากนำเสนอข้อมูลใหม่เกี่ยวกับการปลงพระชนม์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในช่วงปลายรัชสมัยกรุงธนบุรี
หลังการเสียชีวิตของสุภา ศิริมานนท์ จินดากลับมาเขียนหนังสืออีกครั้ง คือ สารคดีบันทึกการเดินทางไปอินเดีย ชื่อ "ไปเยือนถิ่นพุทธภูมิ" (พ.ศ. 2533) และบันทึกการเดินทางเมื่อครั้งเดินทางไปคารวะนายปรีดี พนมยงค์ ที่ประเทศฝรั่งเศส ชื่อ “ความทรงจำจากบ้านชานกรุงปารีส” (พ.ศ. 2536)
จินดา ศิริมานนท์ ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ จากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย รับรางวัลนราธิป ประจำปี พ.ศ. 2550เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551