Vittayen Muttamara
Quick Facts
Biography
วิทเยนทร์ มุตตามระ ชื่อเล่น เอ๋ อดีตผู้ประกาศข่าวทางช่องท็อปนิวส์ และอดีตกรรมการผู้จัดการสถานีโทรทัศน์ฟ้าวันใหม่ รวมถึงเคยสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์
ประวัติ
วิทเยนทร์เกิดเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2511 (55 ปี) เป็นบุตรของ น.ท.กมล มุตตามระ และนางสมทรง มุตตามระ (สกุลเดิม: กัมปนาทแสนยากร) เป็นหลานของ พล.อ.หลวงกัมปนาทแสนยากร อดีตองคมนตรี
การศึกษา
- ระดับมัธยมศึกษา โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)
- ปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เอกบริหารรัฐกิจ
- ปริญญาโท บริหารธุรกิจระหว่างประเทศ ศึกษาเกี่ยวกับเศรษฐกิจและวัฒนธรรมทางธุรกิจของประเทศชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก มหาวิทยาลัยโดมินิกันแห่งแคลิฟอร์เนีย รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐ
การทำงาน
บทบาทด้านสิ่งแวดล้อม
วิทเยนทร์เคยเป็นประธานชมรมผู้ประกอบการธุรกิจดำน้ำกรุงเทพฯ (BDOC) และเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง และเป็นกรรมการและเลขานุการมูลนิธิเพื่อทะเล เมื่อประเทศไทยประสบเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อปลายปี พ.ศ. 2547 ได้ประกาศรับอาสาสมัครนักดำน้ำมืออาชีพ เพื่อร่วมสำรวจความเสียหายของแนวปะการัง และเพื่อช่วยกันฟื้นฟูสภาพแนวปะการังที่ได้รับความเสียหายจากสึนามิด้วย
และจากบทบาทครั้งนั้น ทำให้วิทเยนทร์และมูลนิธิเพื่อทะเลได้มีบทบาทต่อเนื่องในเรื่องการทำปะการังเทียมบริเวณแหล่งดำน้ำฝั่งทะเลอันดามัน ผ่านโครงการ "ฝูงบินปะการัง" โดยขอเครื่องบินปลดประจำการจากกองทัพอากาศจำนวน 10 ลำ มาจมเป็นปะการังเทียม
นอกจากนี้ วิทเยนทร์และมูลนิธิเพื่อทะเลยังทำหน้าที่รณรงค์ให้ความรู้เพื่อการปกป้องสิ่งแวดล้อมทางทะเล ยังเป็นผู้ริเริ่มโครงการเยาวชนสัมผัสชีวิตใต้ท้องทะเลไทย เพื่อสอนเยาวชนให้เป็นนักดำน้ำและเรียนรู้ระบบนิเวศวิทยาทางทะเลด้วย
บทบาทด้านการเมือง
- พ.ศ. 2550 สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร เขต 5 (ดอนเมือง สายไหม บางเขน) พรรคประชาธิปัตย์
- เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (สาทิตย์ วงศ์หนองเตย)
- พ.ศ. 2554 สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร เขต 14 (บางเขน) พรรคประชาธิปัตย์
บทบาทด้านการช่วยเหลือผู้ประภัยน้ำท่วม
เมื่อเกิดอุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ. 2553 รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้จัดตั้งศูนย์ประสานการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยขึ้น มีอภิรักษ์ โกษะโยธิน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นผู้อำนวยการศูนย์ โดยวิทเยนทร์เป็นรองผู้อำนวยการศูนย์ ทำหน้าที่ประสานงานกับองค์กรต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชน ในการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย รวมทั้งการรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์อุทกภัย ต่อมาอภิรักษ์ได้ลาออกจากตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 2 กรุงเทพมหานคร ครม. มีมติให้วิทเยนทร์ทำหน้าที่รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ประสานการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยไปตลอดจนมีการเลือกตั้งใหม่
บทบาทด้านสื่อมวลชน
เมื่อครั้งเป็นเลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี วิทเยนทร์ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่ประสานงานสื่อมวลชน โดยมีบทบาทในช่วงรับมือวิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2552–2553 และเป็นทีมงานจัดรายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์
หลังการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2554 วิทเยนทร์ได้รับตำแหน่งเป็นผู้บริหารสถานีโทรทัศน์บลูสกายแชนแนล โดยมีตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการ และเป็นผู้จัดรายการฟ้าวันใหม่ ร่วมกับถนอม อ่อนเกตุพล ด้วย แต่หลังเกิดวิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2556–2557 สถานีโทรทัศน์บลูสกายถูกระงับการออกอากาศเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตามคำสั่งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ฉบับที่ 6/2557 และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 15/2557 ก่อนจะกลับมาออกอากาศอีกครั้งในชื่อสถานีโทรทัศน์ฟ้าวันใหม่ โดยยังมีวิทเยนทร์เป็นผู้บริหารสถานีตามเดิม และรับหน้าที่ผู้จัดรายการฟ้าวันใหม่ สายตรงบลูสกาย ถอนพิษ และข่าวคาใจ ซึ่งจัดคู่กับอัญชะลี ไพรีรัก
ในปี พ.ศ. 2564 วิทเยนทร์ได้มาร่วมงานกับช่องท็อปนิวส์ เพื่อจัดรายการคู่กับอัญชะลีอีกครั้ง ในชื่อ "ข่าวเที่ยงตรง" ก่อนที่หนึ่งเดือนต่อมาจะเปลี่ยนชื่อรายการเป็น "TOP ข่าวเที่ยง"
รางวัลที่เคยได้รับ
- พ.ศ. 2541 บุคคลตัวอย่างประจำปี สาขาธุรกิจบริการท่องเที่ยว
- พ.ศ. 2547 ศิษย์การบินดีเด่น หน่วยฝึกการบินพลเรือน ฝูงบิน 604 กองทัพอากาศ
- พ.ศ. 2547 ประกาศเกียติคุณชั้นสามัญ สภากาชาดไทย ประทานโดย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ
- พ.ศ. 2549 ประกาศเกียติคุณชั้นสาม สภากาชาดไทย ประทานโดย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
- พ.ศ. 2553 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก (ท.ช.)
- พ.ศ. 2552 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 3 ตริตาภรณ์มงกุฎไทย (ต.ม.)
- พ.ศ. 2556 – เหรียญกาชาดสมนาคุณ ชั้นที่ 1 (เหรียญทอง)