Vichai Boonlang
Quick Facts
Biography
ศาสตราจารย์ ดร.วิชัย บุญแสง นักวิจัยชาวไทย เกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2485 ที่อำเภอวิเศษไชยชาญ จังหวัดอ่างทอง เป็นผู้หนึ่งที่บุกเบิกการใช้เทคโนโลยีทางด้านพันธุวิศวกรรมศาสตร์ ในการตรวจหาลายพิมพ์ดีเอ็นเอเพื่อพิสูจน์บุคคล รวมทั้งร่วมพัฒนา การตรวจวินิจฉัยไวรัสในกุ้งกุลาดำ ที่ก่อให้เกิดโรคหัวเหลือง โรคตัวแดงจุดขาว และโรคกุ้งแคระ อันเป็นประโยชน์อย่างมากต่ออุตสาหกรรมการส่งออกกุ้งของประเทศไทย จนทำให้ได้รับรางวัลต่างๆ
ศ. ดร.วิชัย บุญแสง จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาเคมี จากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดล ในปัจจุบัน) ในปี พ.ศ. 2507 และ ปริญญาเอก สาขาชีวเคมี จาก University of Otago ประเทศนิวซีแลนด์ ในปี พ.ศ. 2518 หลังสำเร็จการศึกษา ได้กลับมารับราชการที่ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และได้ดำรงตำแหน่ง หัวหน้าภาควิชาชีวเคมี (พ.ศ. 2535-2539) จนได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ (พ.ศ. 2538) และศาสตราจารย์ระดับ 11 (พ.ศ. 2543)
เกียรติคุณและรางวัล
- พ.ศ. 2538 รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาการวิจัย
- พ.ศ. 2539 รางวัลผลงานวิจัยดีเยี่ยม สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช เรื่อง การสร้างและประยุกต์ใช้ลายพิมพ์ดีเอ็นเอในคน จากสภาวิจัยแห่งชาติ
- พ.ศ. 2539 ร่วมรับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น เรื่อง ชุดตรวจสอบหาเชื้อมาลาเรียด้วยเทคนิคดีเอ็นเอ จากสภาวิจัยแห่งชาติ
- พ.ศ. 2541 รางวัลกุ้งกุลาทองเกียรติยศ จากชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสุราษฎร์ธานี
- พ.ศ. 2543 รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช จากสภาวิจัยแห่งชาติ
- พ.ศ. 2543 รางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมูลนิธิโทเร ประเทศไทย ประเภททีมวิจัย
- พ.ศ. 2545 รางวัลผลงานวิชาการดีเด่นด้านวิทยาศาสตร์ จากมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย
- พ.ศ. 2546 รางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์
- พ.ศ. 2547 รางวัลศิษย์เก่าดีเด่นด้านการวิจัยจากบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล
- พ.ศ. 2548 รางวัลมหิดลทยากร จากสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดล
- พ.ศ. 2550 ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (เทคโนโลยีชีวภาพ) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
- พ.ศ. 2551 ปริญญาวิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ชีวเคมี) มหาวิทยาลัยมหิดล
ผลงานวิจัย
ศ.ดร.วิชัย บุญแสง เป็นผู้ที่อุทิศตน ทำการวิจัยอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลามากกว่า 40 ปี โดยถือหลักว่า งานวิจัยจะเสริมให้งานการเรียนการสอนดียิ่งขึ้น โดยมีผลงานวิจัยที่มีผลกระทบโดยตรงต่อสังคมไทย เช่น
โครงการลายพิมพ์ดีเอ็นเอในมนุษย์ เป็นผลงานวิจัยที่สามารถนำมาใช้เพื่อตรวจสอบความแตกต่างของแต่ละบุคคล ความเกี่ยวข้องทางสายเลือด และสามารถพิสูจน์ความเป็น พ่อ-แม่-ลูก ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ด้วยเหตุที่ลายพิมพ์ดีเอ็นเอถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะบุคคลที่ไม่ซ้ำแบบใคร โดยเป็นห้องปฏิบัติการแรกของประเทศไทยที่ได้พัฒนาเทคนิคนี้ จนถึงปัจจุบันเทคโนโลยีลายพิมพ์ดีเอ็นเอได้ถูกพัฒนาให้ทำได้ง่ายขึ้น ตลอดจนไม่จำเป็นต้องใช้เลือดปริมาณมาก ทำให้สะดวก รวดเร็ว ทำให้เทคโนโลยีนี้ สามารถใช้เป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่นำไปสู่การคลายปมปัญหาต่างๆ ทั้งทางการแพทย์ สาธารณสุข วิทยาศาสตร์กฎหมาย หรือแม้แต่ปัญหาอาชญากรรม
โครงการเทคโนโลยีชีวภาพกุ้ง เป็นผลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งเป็นอย่างมาก โดย ศ.ดร.วิชัย บุญแสงและคณะ ได้พัฒนาชุดตรวจสอบโรคไวรัสหัวเหลือง โรคตัวแดงจุดขาว และโรคกุ้งแคระ ในกุ้งกุลาดำ โดยใช้เทคนิค PCR ซึ่งเป็นโรคที่ก่อให้เกิดการสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทำให้ ศ.ดร.วิชัย บุญแสง ทุ่มเทให้กับงานวิจัยทางด้านนี้อย่างต่อเนื่องและจริงจัง นับเป็นเวลากว่า 15 ปี จุดเด่นของงานวิจัยนี้คือไม่เพียงแต่สามารถใช้ในการตรวจสอบการติดเชื้อของกุ้ง ไม่ว่ากุ้งจะแสดงอาการของโรคหรือไม่ก็ตาม ยังสามารถบอกความรุนแรงของการติดเชื้อไวรัสเหล่านั้นและยังสามารถตรวจหาพาหะของเชื้อไวรัสที่พบบริเวณบ่อเลี้ยงกุ้งกุลาดำได้อีกด้วย ผลจากโครงการนี้ทำให้เกษตรกรและผู้ประกอบการโรงเพาะฟักกุ้งนำผลงานไปปฏิบัติ บังเกิดผลเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ
การบริหารจัดการงานวิจัย
อดีตเคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (พ.ศ. 2540-2553) โดยได้สนับสนุนทุนวิจัยใน 4 ประเภทหลัก ได้แก่
- ทุนวิจัยเพื่อสร้างบันไดอาชีพนักวิจัย (อาจารย์รุ่นใหม่→เมธีวิจัย สกว.→วุฒิเมธีวิจัย สกว.) เน้นการทำวิจัยพื้นฐานตามความริเริ่มของนักวิจัยเอง
- ทุนวิจัยแบบมุ่งเป้า (Strategic Targeted Advanced Research-STAR) เน้นไปที่นักวิจัยที่มีการสร้างฐานความรู้และประสบการณ์ได้ระดับหนึ่งแล้ว และมาทำวิจัยเพื่อตอบโจทย์วิจัยที่เป็นความต้องการของประเทศ
- ทุนวิจัยสู่ภาคอุตสาหกรรม เป็นการสนับสนุนการทำวิจัยแบบต่อยอด ตามความต้องการและเงื่อนไขของภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนสร้างผลงานวิจัยที่สามารถจดสิทธิบัตรและคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ที่มีนวัตกรรมสูง
- ทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัย โดยผู้ที่ได้รับทุนนี้จะได้รับชื่อ เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ซึ่งต้องเป็นผู้ที่มีผลงานดีเด่นเป็นที่ยอมรับ มีจริยธรรมที่ดี มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะเป็นหัวหน้าทีมวิจัย สามารถผลิตผลงานที่มีคุณภาพสูงได้ รวมทั้งมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ต่อไปอีกในอนาคต
ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการส่งเสริมการวิจัยในอุดมศึกษาและพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ (พ.ศ. 2554-ปัจจุบัน) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการวิจัยโดยเฉพาะ ทำหน้าที่กำกับ ดูแล การดำเนินงาน การติดตามและประเมินผลโครงการของมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ 9 แห่ง และมหาวิทยาลัยที่กำลังพัฒนาศักยภาพด้านการวิจัย 70 แห่ง ก่อให้เกิดการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางด้านวิชาการ และยกระดับมหาวิทยาลัยไทยโดยรวม ให้มีศักยภาพด้านการวิจัยที่สูงขึ้น และยกระดับมหาวิทยาลัยที่มีศักยภาพด้านการวิจัยของประเทศสู่มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ที่มีขีดความสามารถระดับโลก
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
- พ.ศ. 2532 ประถมภรณ์มงกุฎไทย
- พ.ศ. 2535 ประถมภรณ์ช้างเผือก
- พ.ศ. 2538 มหาวชิรมงกุฏ
- พ.ศ. 2541 มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก
- พ.ศ. 2546 จตุตถดิเรกคุณาภรณ์