Thianchai Sirisamphan
Quick Facts
Biography
พลเอก เทียนชัย สิริสัมพันธ์ (19 มีนาคม พ.ศ. 2467 – 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2563) เป็นนายทหารและนักการเมืองชาวไทย เคยดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารบก รวมทั้งรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และหัวหน้าพรรคราษฎร และมีฉายานามว่า"เจ้าพ่อป่าหวาย"
ประวัติ
เทียนชัยเกิดเมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2467 เป็นบุตรขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี (จำรัส ศิริสัมพันธ์) และนางฉลอง ศิริสัมพันธ์ สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเซนต์คาเบรียล วิทยาศาสตรบัณฑิตจากโรงเรียนเตรียมนายร้อยทหารบก รุ่นที่ 5 (ตทบ.5) และวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ 16
ครอบครัว
สมรสกับคุณหญิงประพาฬสิทธิ์ สิริสัมพันธ์ มีบุตรธิดา 4 คน คือ
- พล.ต. สิทธิชัย สิริสัมพันธ์
- พล.ต.หญิง สุนันทา สิริสัมพันธ์
- พล.อ. วุฒิชัย สิริสัมพันธ์
- ศจีจันท สิริสัมพันธ์
การทำงาน
พล.อ. เทียนชัย เริ่มรับราชการเป็นทหาร สังกัดกองทัพบก ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษป่าหวาย และเป็นผู้ก่อตั้งหน่วยทหารหน่วยนี้ จนได้รับฉายา ”เจ้าพ่อป่าหวาย” ต่อมาได้รับตำแหน่งเจ้ากรมรักษาดินแดน และรองผู้บัญชาการทหารบก ในระหว่างรับราชการทหาร ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ปราบสลัดอากาศ และยับยั้งการปฏิวัติรัฐประหารหลายครั้ง โดยครั้งสำคัญ คือ กบฏทหารนอกราชการ (กบฏ 9 กันยา) ซึ่ง พล.ต. มนูญกฤต รูปขจร นายทหารนอกประจำการ ได้นำกำลังทหารเข้ายึดกองบัญชาการทหารสูงสุด และประกาศให้ พล.อ. เสริม ณ นคร เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติยึดอำนาจจากรัฐบาลของพล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ระหว่างการไปราชการต่างประเทศ พร้อมกับพล.อ. อาทิตย์ กำลังเอก ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งพล.อ. เทียนชัย ในฐานะรองผู้บัญชาการทหารบก ได้รวมตัวกันต่อต้าน และควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ในเวลาต่อมา
หลังจากเกษียณอายุราชการได้เข้าทำงานทางการเมืองร่วมกับพล.อ. มานะ รัตนโกเศศ ก่อตั้งพรรคราษฎร (เปลี่ยนชื่อจากพรรคสหชาติ) จนได้รับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ต่อมาได้ปรับไปรับตำแหน่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และดำรงตำแหน่งสมัยที่ 2 ในปี พ.ศ. 2533 นอกจากนั้นยังได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และเขาเคยได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2516
เขาได้รับแต่งตั้งเป็นรองประธานกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย และมีความสนใจในด้านกีฬามวยไทย จนได้รับแต่งตั้งเป็นประธานสหพันธ์สหพันธ์สมาคมมวยไทยสมัครเล่นนานาชาติ และเป็นประธานที่ปรึกษาของสมาคมครูมวยไทย
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย
- พ.ศ. 2526 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)
- พ.ศ. 2523 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)
- พ.ศ. 2532 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) (ฝ่ายหน้า)
- พ.ศ. 2533 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ชั้นที่ 2 มหาโยธิน (ม.ร.)
- พ.ศ. 2532 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ
- พ.ศ. 2512 – เหรียญชัยสมรภูมิ สงครามมหาเอเชียบูรพา (ช.ส.)
- พ.ศ. 2495 – เหรียญชัยสมรภูมิ การร่วมรบกับสหประชาชาติ ณ ประเทศเกาหลี (ช.ส.) (ประดับเปลวระเบิด)
- พ.ศ. 2527 – เหรียญพิทักษ์เสรีชน ชั้นที่ 1 (ส.ช.)
- พ.ศ. 2511 – เหรียญราชการชายแดน (ช.ด.)
- พ.ศ. 2503 – เหรียญจักรมาลา (ร.จ.ม.)
- พ.ศ. 2496 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 ชั้นที่ 5 (ภ.ป.ร.5)
- พ.ศ. 2493 – เหรียญบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 9 (ร.ร.ศ.9)
- พ.ศ. ไม่ปรากฎ – เหรียญกาชาดสมนาคุณ ชั้นที่ 1 (เหรียญทอง)
- พ.ศ. ไม่ปรากฎ – เหรียญกาชาดสรรเสริญ
เครื่องอิสริยาภรณ์สากล
- สหประชาชาติ :
- พ.ศ. 2496 – เหรียญสหประชาชาติเกาหลี
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ
- สหรัฐ :
- พ.ศ. 2494 – เหรียญบรอนซ์สตาร์
- พ.ศ. 2519 – ลีเจียนออฟเมอริต ชั้นนายทหาร (
- เกาหลีใต้ :
- พ.ศ. ไม่ปรากฏ – เหรียญราชการสงครามเกาหลี