Thawat Wichaidit
Quick Facts
Biography
รองศาสตราจารย์ ดร.ธวัช วิชัยดิษฐ (12 พฤศจิกายน 2483 - 11 ธันวาคม 2541)อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (นายชวน หลีกภัย) และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์
ธวัช วิชัยดิษฐ เสียชีวิตในเหตุการณ์เครื่องบินสายการบินไทยตก ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อปี พ.ศ. 2541 เป็นเหตุการณ์เดียวกันกับที่นายเรืองศักดิ์ ลอยชูศักดิ์ รอดชีวิต
ประวัติ
ธวัช วิชัยดิษฐ เกิดเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2483 ที่ตำบลบางกุ้ง อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นบุตรคนโตของนายสำรวม วิชัยดิษฐ กับนางพิณพาทย์ วิชัยดิษฐ มีน้อง 6 คน ได้แก่
- ยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย
- โสภา รัตนางสุ
- เกื้อกูล วิชัยดิษฐ (เสียชีวิตแล้ว)
- พูนสุข นวลย่อง
- สมพล วิชัยดิษฐ
- พันตำรวจโท ไชยันต์ วิชัยดิษฐ (เสียชีวิตแล้ว)
นายธวัช วิชัยดิษฐ สมรสกับนางวราภรณ์ วิชัยดิษฐ (สมบัติศิริ) มีบุตร 2 คน คือ
- นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการเคหะแห่งชาติ
- นายชุติพงษ์ วิชัยดิษฐ
ซึ่งทั้งสองสามีภรรยา เสียชีวิตในเหตุการณ์เครื่องบินตกเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2541 ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี รวมมีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้น 101 คน โดยมีผู้รอดชีวิตที่มีชื่อเสียง คือ นายเรืองศักดิ์ ลอยชูศักดิ์
การศึกษา
ธวัช วิชัยดิษฐ จบชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนสุราษฎร์ธานีสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้านการศึกษา จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในปี พ.ศ. 2507 ปริญญาโทด้านรัฐประศาสนศาสตร์ (เกียรตินิยมดี) จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และจาก มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน จากนั้นจึงได้ศึกษาจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก ด้านรัฐประศาสนศาสตร์ จาก มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน เมื่อปี พ.ศ. 2516 นอกจากนั้นได้ผ่านการศึกษาอบรมปริญญาและเข็มรัฎฐาภิรักษ์ จากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร และได้ประกาศนียบัตร (กิตติมศักดิ์) วิทยาลัยทัพอากาศอีกด้วย
ประวัติการทำงาน
ธวัช วิชัยดิษฐ เริ่มรับราชการที่คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ต่อจากนั้นจึงได้รับตำแหน่งทางวิชาการเป็นรองศาสตราจารย์ และเป็นคณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2519 ถึง พ.ศ. 2521 ต่อมาในปี พ.ศ. 2528 จึงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค
ในวงการการเมือง ดร.ธวัช เคยดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการพรรคพลังใหม่ ต่อมาได้เข้ามารับตำแหน่งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2534 และเป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (ชวน หลีกภัย) ในปี พ.ศ. 2535 ถึง พ.ศ. 2538 และเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุราษฎร์ธานีอีกด้วย
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
- พ.ศ. 2536 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)
- พ.ศ. 2535 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)