Satit Pitutacha
Quick Facts
Biography
สาธิต ปิตุเตชะ (เกิด 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2510) ชื่อเล่น ตี๋ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ดูแลพื้นที่ภาคกลาง 3 สมัย อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง 4 สมัย อดีตสมาชิกสภาจังหวัดระยอง และอดีตรองประธานสภาจังหวัดระยอง ที่มีอายุน้อยที่สุดในสภาจังหวัดระยอง
ประวัติ
สาธิต ปิตุเตชะ มีชื่อเล่นว่า ตี๋ เกิดเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2510 ที่ ตำบลบางบุตร อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง เป็นบุตรของสาคร ปิตุเตชะ อดีตกำนันตำบลบางบุตร (เสียชีวิตเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561) กับ ทอด ปิตุเตชะ และเป็นน้องชายของปิยะ ปิตุเตชะ นายก อบจ.ระยอง กับธารา ปิตุเตชะ อดีต ส.ส. ระยอง 3 สมัย และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง สมรสกับ นพเกตุ (บี) บุตรสาวของ สมเกียรติ นพเกตุ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง โดยมีบุตรสาวด้วยกันคนเดียว คือ เฌอ ปิตุเตชะ (ต้นไม้)
สาธิต เข้ารับการศึกษาที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เนื่องจากสอบเอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยของรัฐไม่ติด และเข้าสู่แวดวงการเมือง จากการได้รับแรงบันดาลใจจากการเข้าร่วมชุมนุมในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ในปี พ.ศ. 2535 หลังจากสำเร็จการศึกษาไม่นาน ขณะที่เป็นทนายความฝึกหัดอยู่ โดยเข้าร่วมชุมนุมในฐานะผู้ชุมนุมทั่วไป พร้อมกับเพื่อน ๆ อีกหลายคนที่ต่อมาได้กลายเป็นดารา นักแสดง และนักการเมือง ที่มีชื่อเสียง เช่น ศักดิ์สิทธิ์ แท่งทอง, ชลิตา พานิชการ รวมไปถึงคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, จำลอง ศรีเมือง, วัชระ เพชรทอง, จาตุรนต์ ฉายแสง, กรุณา บัวคำศรี ฯลฯ อดีตหนึ่งในแนวร่วมการชุมนุมดังกล่าวในขณะนั้น ซึ่งเขาได้ถูกทหารทำร้ายร่างกายด้วยการตบหน้าโดยด้ามปืนด้วย
การศึกษา
สาธิต ปิตุเตชะ สำเร็จการศึกษา ปริญญาตรี นิติศาสตรบัณฑิต จาก มหาวิทยาลัยรามคำแหง และปริญญาโท รัฐประศาสนศาสตร์ นโยบายสาธาณะ จาก มหาวิทยาลัยบูรพา และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก ในสาขาบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิต (บริหารธุรกิจอุตสาหกรรม) ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เมื่อ พ.ศ. 2561
การทำงาน
สาธิต ปิตุเตชะ ประกอบอาชีพทนายความ โดยเปิดสำนักงานทนายความแห่งหนึ่งในจังหวัดระยอง ก่อนเข้าสู่วงการเมืองครั้งแรกโดยลงรับสมัครเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาจังหวัด (ส.จ.) เมื่อปี พ.ศ. 2535 ที่อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง ทั้งที่มีฐานคะแนนเสียงส่วนใหญ่ในพื้นที่อำเภอบ้านค่าย ทำให้ไม่ได้รับเลือกตั้ง ต่อมาลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดอีกครั้ง ในปี พ.ศ. 2538 และได้รับเลือกตั้งเป็นอันดับที่ 3 ของจำนวนสมาชิกสภาจังหวัด 9 คน และได้ดำรงตำแหน่งรองประธานสภาจังหวัดระยอง โดยมีอายุน้อยที่สุดในสภาจังหวัดขณะนั้น และได้ดำรงตำแหน่งอยู่จนครบวาระ
สาธิต ปิตุเตชะ เข้าสู่วงการเมืองระดับประเทศครั้งแรก โดยลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง เขต 1 ในนามพรรคประชาธิปัตย์ แข่งขันกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 4 สมัย จาก พรรคไทยรักไทย สามารถชนะการเลือกตั้งโดยทิ้งห่างคู่แข่งกว่า 10,000 คะแนน และได้รับรางวัล ส.ส. ที่ไม่เคยขาดประชุม เมื่อปี พ.ศ. 2546 จาก อุทัย พิมพ์ใจชน ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ และกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ อีกด้วย
ในการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 เขาได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.เขต 1 จังหวัดระยอง ชนะการเลือกตั้งได้คะแนนเป็นอันดับ 1 ของจังหวัด ต่อมาเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 เขาได้รับเลือกจากที่ประชุมพรรคประชาธิปัตย์ ให้ทำหน้าที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์เงา
เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 พรรคประชาธิปัตย์ได้จัดการประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ตามข้อบังคับพรรค และเขาได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคดังกล่าว
ต่อมาในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 เขาได้ลงสมัคร ส.ส.จังหวัดระยอง เขต 1 ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.อีกหนึ่งสมัย
ต่อมาในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2562 เขาได้ลงสมัคร ส.ส.จังหวัดระยอง เขต 1 ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.อีกหนึ่งสมัย ซึ่งเป็น ส.ส.จังหวัดระยอง สมัยที่ 4 ได้รับเลือกจากที่ประชุมพรรคประชาธิปัตย์ ให้ทำหน้าที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ในปี พ.ศ. 2565 สาธิต ได้รับเลือกให้เป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่...) พ.ศ... รัฐสภา ซึ่งแต่เดิมเป็นที่คาดหมายว่าตำแหน่งดังกล่าวจะเป็นของ ไพบูลย์ นิติตะวัน จากพรรคพลังประชารัฐ
ต่อมาในการประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อลงมติเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2566 ภายหลังอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรค ประกาศลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ สาธิตได้ประกาศลาออกตามอภิสิทธิ์ไปด้วย ทำให้สาธิตพ้นจากตำแหน่งรักษาการรองหัวหน้าพรรคไปโดยปริยาย
ความสนใจ
กีฬา เขาสนใจกีฬาฟุตบอลตั้งแต่เด็ก โดยตำแหน่งที่เล่นคือกองหน้า และเบอร์เสื้อที่ชื่นชอบที่สุด คือ เบอร์ 11 โดยสโมสรฟุตบอลที่ชื่นชอบ คือ สโมสรฟุตบอลอาร์เซนอล
ดนตรี เขาชอบเล่นดนตรีตั้งแต่สมัยเรียน และได้ตั้งวงดนตรีกับเพื่อน ๆ โดยเครื่องดนตรีที่ชอบเล่นที่สุด คือ กีตาร์ไฟฟ้า และชอบฟังเพลง Rock วงดนตรีที่ชอบที่สุดคือวง สกอร์เปียนส์
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
- พ.ศ. 2554 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)
- พ.ศ. 2551 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)