peoplepill id: phraya-siphuripricha-kamon-salak
PS(S
Thailand
1 views today
1 views this week
Phraya Siphuripricha (Kamon Salak
Siamese nobleman

Phraya Siphuripricha (Kamon Salak

The basics

Quick Facts

Intro
Siamese nobleman
Places
Work field
Birth
Age
57 years
The details (from wikipedia)

Biography

มหาเสวกโท นายกองตรี พระยาศรีภูริปรีชา (4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2404 - 3 มีนาคม พ.ศ. 2460) นามเดิม กมล ผู้ได้รับพระราชทานนามสกุลสาลักษณ สมุหพระอาลักษณ์ เลขานุการรัฐมนตรีสภา ปลัดทูลฉลองกระทรวงเกษตราธิการ ปลัดทูลฉลองกระทรวงมุรธาธร ผู้ช่วยราชเลขาธิการ ราชเลขานุการ องคมนตรี

ปฐมวัย

มหาเสวกโท พระยาศรีภูริปรีชา มีนามเดิมว่า กมล เป็นบุตรของพระยาศรีสุนทรโวหาร (ฟัก สาลักษณ) เจ้ากรมพระอาลักษณ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 กับคุณหญิงอิ่ม เกิดเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2404 ปีระกา ที่เรือนมารดาในบ้านของพระศรีสหเทพ (เพง) ซึ่งตั้งอยู่ติดกับสี่แยกถนนเจริญกรุง และถนนเฟื่องนคร หรือที่รู้จักกันในนามของสี่กั๊กพระยาศรีในปัจจุบัน

พระยาศรีภูริปรีชาได้เริ่มเรียนหนังสือตั้งแต่ยังเล็ก โดยมารดาได้เริ่มสอนอ่านหนังสือตั้งแต่ 5 ขวบ ครั้นบิดา พระยาศรีสุนทรโวหาร (ฟัก สาลักษณ) ได้พาขึ้นเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยให้อ่านหนังสือถวายตัว จนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชหฤทัยเอ็นดูและพระราชทานทองคำลิ่มเป็นรางวัล

การศึกษา

เนื่องจากพระยาศรีสุนทรโวหาร (ฟัก สาลักษณ) ผู้เป็นบิดา แม้ว่าจะเป็นผู้ที่มีความรู้มากอย่างยิ่ง แต่ก็หาได้มีเวลาว่างจากงานราชการเลย มหาเสวกโท พระยาศรีภูริปรีชา (กมล สาลักษณ) จึงต้องเที่ยวเรียนวิชาในสำนักอื่น อาทิเช่น วัดพระเชตุพน สำนักพระมงคลเทพมุนี (เที่ยง) สำนักพระครูสมุหคณิศร (โต) และสำนักหมอยอน ฮัสเสต ชันดเลอร์ (หมอจัน) ซึ่งเป็นครูสอนศาสนาชาวอเมริกัน เป็นต้น

นอกจากนี้ พระยาศรีภูริปรีชายังเคยได้รับการอบรมสั่งสอนวิชาจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ร่วมกับนายเจิม ซึ่งเป็นน้องชาย เมื่อครั้นยังเป็นเสมียนฝึกหัด

ชีวิตราชการ

  • มหาดเล็กวิเศษ รับราชการอยู่เวรศักดิ์ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
  • พ.ศ. 2425 รับราชการในกรมราชเลขาธิการ
  • พ.ศ. 2425 ลาอุปสมบท ณ สำนักวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เป็นพระกรรมวาจาจารย์
  • พ.ศ. 2428 พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นนายจำนงราชกิจ หุ้มแพรวิเศษในกรมพระอาลักษณ์ ถือศักดินา 500
  • 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2433 เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นหลวงจำนงนริศร ถือศักดินา 800
  • พ.ศ. 2435 โปรดเกล้าฯ ให้เป็นสภาเลขานุการแห่งองคมนตรีสภา ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
  • 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2436 เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยาศรีสุนทรโวหาร ญาณปรีชามาตย์ บรมนารถนิตยภักดี พิริยะพาหะ ตำแหน่งเจ้ากรมพระอาลักษณ์ ถือศักดินา 3000
  • 24 มกราคม พ.ศ. 2437 โปรดเกล้าฯ ให้เป็นสภาเลขานุการแห่งมนตรีสภา ในรัฐมนตรีสภาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
  • 8 ธันวาคม พ.ศ. 2442 โปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งปลัดทูลฉลอง กระทรวงเกษตราธิการ (อีกตำแหน่งหนึ่ง) โดยมิให้ขาดจากตำแหน่งเดิม (เจ้ากรมพระอาลักษณ์)
  • พ.ศ. 2455 โปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งปลัดทูลฉลอง กระทรวงมุรธาธร
  • 22 ตุลาคม พ.ศ. 2455 โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปรับราชการในตำแหน่งผู้ช่วยราชเลขาธิการ
  • 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2459 เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยาศรีภูริปรีชา รามาธิปติราชภักดี ศรีสาลักษณวิสัย อภัยพิริยพาหะ ตำแหน่งสมุหพระอาลักษณ์ ฝ่ายพระบรมมหาราชวัง ถือศักดินา 10000

ราชการพิเศษ

  • กรรมการองคมนตรี
  • ที่ปรึกษาความฎีกาทูลเกล้าฯ ถวาย
  • กรรมการหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร (หอสมุดแห่งชาติ)
  • เลขานุการกรรมการจัดการสร้างพระบรมรูปทรงม้า
  • เลขานุการกรรมการจัดการสมโภชราชสมบัติครบ 41 ปี
  • 29 พฤศจิกายน 2459 กรรมการวรรณคดีสโมสร
  • เลขาธิการราชนาวีสมาคมแห่งกรุงสยาม

ยศและบรรดาศักดิ์

บรรดาศักดิ์

  • มหาดเล็กวิเศษ
  • พ.ศ. 2428 นายจำนงราชกิจ ศักดินา 500
  • พ.ศ. 2433 หลวงจำนงนริศร ศักดินา 800
  • พ.ศ. 2436 พระยาศรีสุนทรโวหาร ญาณปรีชามาตย์ บรมนารถนิตยภักดี พิริยะพาหะ ศักดินา 3000
  • พ.ศ. 2459 พระยาศรีภูริปรีชา รามาธิปติราชภักดี ศรีสาลักษณวิสัย อภัยพิริยพาหะ ศักดินา 10000

ยศข้าราชการกระทรวงวัง

  • มหาเสวกตรี
  • 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2457 มหาเสวกโท

ยศกองเสือป่า

  • 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2455 นายหมู่ตรี
  • นายหมู่ใหญ่
  • 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2457 นายหมวดตรี
  • 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2458 นายหมวดโท
  • นายกองตรี

พระราชทานนามสกุล

ด้วยเหตุที่ตระกูลสาลักษณได้รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท ในตำแหน่งเจ้ากรมพระอาลักษณ์ถึงสามชั้น นับตั้งแต่รุ่นบิดา อันได้แก่ พระยาศรีสุนทรโวหาร (ฟัก สาลักษณ) เจ้ากรมพระอาลักษณ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สืบต่อมายัง มหาเสวกโท พระยาศรีภูริปรีชา สมุหพระอาลักษณ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จวบจนกระทั่งถึงบุตร คือ มหาเสวกตรี พระยาศรีสุนทรโวหาร (ผัน สาลักษณ) ก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ดำรงในตำแหน่งเจ้ากรมพระอาลักษณ์สืบทอดต่อจากปู่และบิดาด้วยเช่นกัน

สำหรับการพระราชทานนามสกุล ปรากฏใน พระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ความว่า :-

วันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๔๕๖

ถึง พระยาศรีสุนทรโวหาร (กมล)

นามสกุลของเจ้าที่ขอมานั้น ข้าได้ไตร่ตองดูแล้ว เห็นว่าในสกุลของเจ้าได้มีผู้ได้เคยรับใช้พระเจ้าแผ่นดินในน่าที่อาลักษณ์ เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยมาแล้วติตต่อกันได้สองชั่วคน ซึ่งถ้าจะคิดไปก็ควรนับว่าเป็นสิ่งควรรำฦกถึงและเปนที่ภาคภูมิใจแห่งลูกหลาน เพราะมิใช่ของง่ายที่บุตรจะรับมฤดกบิดาได้ในน่าที่ราชการอย่างเช่นเจ้ากับบิดาเจ้า เพราะเหตุนี้ ข้าขอให้นามสกุลของเจ้าว่า สาลักษณ (เขียนเปนตัวอักษรโรมันว่า Salakshna) เพื่อให้เปนพยานความชอบแห่งบิดาเจ้าและตัวเจ้า ขอให้สกุลสาลักษณ์เจริญรุ่งเรืองและมั่นคงอยู่ในกรุงสยามชั่วกัลปาวสาร

วชิราวุธ ป.ร.

โดยนามสกุลสาลักษณนับเป็นนามสกุลพระราชทานชุดแรกในลำดับที่ 56 ของประกาศกระทรวงมุรธาธร เรื่อง การพระราชทานนามสกุลครั้งที่ 1

ผลงานทางด้านการประพันธ์และงานทางด้านสาธารณกุศล

นอกจากงานในหน้าที่ราชการแล้ว มหาเสวกโท พระยาศรีภูริปรีชา (กมล สาลักษณ) ยังได้รับการยกย่องให้เป็นนักประพันธ์คนสำคัญท่านหนึ่งของประเทศไทย ดังจะเห็นได้จากผลงานอันประกอบไปด้วย

  • 1. ตำนานทัพเรือไทย (พิมพ์ลงในหนังสือสมุทรสาร)
  • 2. บทละครดึกดำบรรพ์ เรื่องสิทธิธนู ซึ่งใช้เป็นหนังสืออ่านประกอบนอกเวลาวิชาภาษาไทยตามคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ ที่ วก.228/2538 และวก.256/2538
  • 3. คำเจรจาโขนหลวง ตอนสุครีพถอนพญารัง และตอนถวายลิง
  • 4. โคลงสุภาษิต

ในส่วนของงานทางด้านสาธารณกุศล มหาเสวกโทพระยาศรีภูริปรีชาได้มีการบริจาคทานอยู่เป็นนิจ ดังจะเห็นได้จากการบริจาคเงินเป็นจำนวน 45 บาท เพื่อเป็นสาธารณกุศลในการพยาบาล เนื่องในโอกาสคล้ายวันเกิด โดยมอบให้แก่เจ้าพนักงานกระทรวงธรรมการเป็นผู้นำไปดำเนินการต่อ เป็นต้น

รวมไปถึงการสร้างตึกสาลักษณาลัย ภายในวัดโสมนัสราชวรวิหาร เพื่อเป็นโรงเรียนสำหรับสาธารณประโยชน์ โดยสร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้แก่คุณหญิง (พึ่ง) ศรีภูริปรีชา และได้ขอแบบจากกรมศึกษาธิการไปจัดการก่อสร้างเป็นตึกสองชั้น ยาว 8 วา กว้างในประธาน 4 วา สามารถจุนักเรียนได้ห้องละ 30 คน รวมทั้งสิ้น 4 ห้อง โดยในการนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชศรัทธาพระราชทานทรัพย์เข้าในส่วนกุศล ร่วมด้วยเจ้านายหลายพระองค์ และข้าราชการอีกเป็นจำนวนมาก พร้อมกันนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามตึกโรงเรียนหลังดังกล่าวนี้ว่า สาลักษณาลัย อีกด้วย

มหาเสวกโท พระยาศรีภูริปรีชา ได้มอบตึกดังกล่าวให้แก่กรมศึกษาธิการเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2459 และในปัจจุบันตึกสาลักษณาลัยได้กลายเป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรมภายในวัดโสมนัสราชวรวิหาร ยังประโยชน์สมดังเจตนารมณ์ของท่านเจ้าคุณในที่สุด

ชีวิตครอบครัวและชีวิตในบั้นปลาย

มหาเสวกโท พระยาศรีภูริปรีชา (กมล สาลักษณ) ได้ตั้งเคหสถานอยู่ที่ถนนตลาด ตำบลนางเลิ้ง จังหวัดพระนคร และสมรสกับคุณหญิง (พึ่ง) ศรีภูริปรีชามีบุตรธิดาจำนวนทั้งสิ้น 8 คน ได้แก่

  • 1. มหาเสวกตรี พระยาศรีสุนทรโวหาร (ผัน สาลักษณ)
  • 2. ท่านผู้หญิง (ถวิล) ธรรมศักดิมนตรี สมรสกับเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา)
  • 3. นาง (ปรุง) ธรรมศักดิมนตรี ภริยาในเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา)
  • 4. นาง (ฉวี) บวรวาที (นพวงศ์ ณ อยุธยา)
  • 5. เสวกโท หลวงวิจิตรราชมนตรี (เล็ก สาลักษณ)
  • 6. อำมาตย์เอก พระสุนทรวาจนา (สุนทร สาลักษณ) อัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน สมรสกับนางสุนทรวาจนา (สดับ) และนางสุนทรวาจนา (สดม) ซึ่งทั้งสองท่านล้วนเป็นบุตรีของเจ้าพระยาพิชัยญาติ (ดั่น บุนนาค)
  • 7. นางสาวศรี สาลักษณ
  • 8. นายอุดม สาลักษณ
  • 9. นางสาวเหรียญ สาลักษณ
  • 10. พระศรีเกษตราภิบาล (แนบ สาลักษณ)
  • 11. นางเอื้อน เทพหัสดิน ณ อยุธยา
  • 12. เสวกตรี หลวงบำบัดอัศวแพทย์ (นิตย์ สาลักษณ)
  • 13. นายกฤษณ์ สาลักษณ
  • 14. นางสาวอัมพร สาลักษณ
  • 15. นางจงกล พงศ์พิพัฒน์
  • 16. นางอุบล ศิริวงศ์

เกียรติยศ

เครื่องยศ

พระยาศรีภูริปรีชา (กมล สาลักษณ) ได้รับพระราชทานเครื่องยศ ดังต่อไปนี้

  • พานทอง
  • เค้าน้ำทอง
  • กระโถนทอง

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

พระยาศรีภูริปรีชา (กมล สาลักษณ) ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เหรียญ และเข็ม ชั้นสูงสุดตระกูลต่างๆ ดังนี้

  • พ.ศ. 2458 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์รัตนวราภรณ์ (ร.ว.) (ฝ่ายหน้า)‎
  • พ.ศ. 2459 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)
  • พ.ศ. 2455 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.)
  • พ.ศ. 2451 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) (ฝ่ายหน้า)
  • พ.ศ. 2458 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์วชิรมาลา (ว.ม.ล.)
  • พ.ศ. 2440 – เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา (ร.ด.ม.(ศ))
  • พ.ศ. 2456 – เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)
  • พ.ศ. 2453 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 6 ชั้นที่ 3 (ว.ป.ร.3)
  • พ.ศ. 2454 – เหรียญราชรุจิทอง รัชกาลที่ 6 (ร.จ.ท.6)
  • พ.ศ. 2436 – เหรียญทวีธาภิเศก (ท.ศ.)
  • พ.ศ. 2440 – เหรียญประพาสมาลา (ร.ป.ม.)
  • พ.ศ. 2441 – เหรียญราชินี (ส.ผ.)
  • พ.ศ. 2446 – เหรียญทวีธาภิเศก (ท.ศ.)
  • พ.ศ. 2450 – เหรียญรัชมงคล (ร.ร.ม.)
  • พ.ศ. 2451 – เหรียญรัชมังคลาภิเศก รัชกาลที่ 5 (ร.ม.ศ.5)
  • พ.ศ. 2454 – เหรียญบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 6 (ร.ร.ศ.6)
  • พ.ศ. 2450 – เข็มอักษรเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรป รักษาพระนครคราวหลัง (เข็มเงิน)
  • พ.ศ. 2452 – เข็มพระชนมายุสมมงคลทอง
  • พ.ศ. 2454 – เข็มพระบรมนามาภิไธย ว.ป.ร. ประดับเพชร
  • พ.ศ. 2454 – เข็มข้าหลวงเดิม
  • พ.ศ. 2456 – เข็มพระรูปสมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี ชั้นที่ 2
  • พ.ศ. 2457 – เข็มไอราพต

ถึงแก่อนิจกรรม

มหาเสวกโท พระยาศรีภูริปรีชา (กมล สาลักษณ) ถึงแก่อนิจกรรมในปีมะเส็ง เมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2460 (นับแบบปัจจุบันตรงกับ พ.ศ. 2461) สิริอายุรวม 56 ปี ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานโกศแปดเหลี่ยมสวมศพตั้งบนแว่นฟ้า 2 ชั้น ตั้งฉัตรเบญจา 4 คัน กลองชนะเขียว 10 จ่าปี่ 1 ประโคมประจำศพ กับพระสงฆ์สวดพระอภิธรรมรับพระราชทานฉันเช้า 4 รูป มีกำหนด 3 วันเป็นเกียรติยศ

อ้างอิง

The contents of this page are sourced from Wikipedia article. The contents are available under the CC BY-SA 4.0 license.
Lists
Phraya Siphuripricha (Kamon Salak is in following lists
comments so far.
Comments
From our partners
Sponsored
Credits
References and sources
Phraya Siphuripricha (Kamon Salak
arrow-left arrow-right instagram whatsapp myspace quora soundcloud spotify tumblr vk website youtube pandora tunein iheart itunes