Phraya Saraphaiphiphat
Quick Facts
Biography
นาวาเอก พระยาศราภัยพิพัฒ ร.น. (6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2432 - 21 กันยายน พ.ศ. 2511)นามเดิม เลื่อน ศราภัยวานิช เป็นนักหนังสือพิมพ์ชาวไทย ดำรงตำแหน่งปลัดทูลฉลอง กระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และวุฒิสมาชิก
ประวัติ
พระยาศราภัยพิพัฒ มีชื่อจริงว่า เลื่อน ศราภัยวานิช สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญรุ่นเดียวกับพระยาอนุมานราชธน และไปศึกษาต่อด้านสื่อสารมวลชน จาก School of Journalism เมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย สมรสกับ หม่อมหลวงฉลอง ศราภัยวานิช
ก่อนปฏิวัติสยาม
พระยาศราภัยพิพัฒ ได้รับราชการเป็นนายเวรวิเศษ เลขาประจำตัวของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสนาบดีกระทรวงทหารเรือตำแหน่งสุดท้ายเป็นเจ้ากรมเสมียนตรา และปลัดทูลฉลอง กระทรวงกลาโหมถูกปลดออกจากราชการหลังการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 พร้อมกับทำงานด้านหนังสือพิมพ์กรุงเทพเดลิเมล์ ไปพร้อมกับนายหลุย คีรีวัต นายสอ เศรษฐบุตร เป็นต้น
หลังปฏิวัติสยาม
หนังสือพิมพ์กรุงเทพเดลิเมล์ที่พระยาศราภัยพิพัฒ นั้นได้ถูกเพ่งเล็งจากฝ่ายรัฐบาล ว่าเป็นสื่อที่สนับสนุนการปกครองแบบเก่าหลังเหตุการณ์กบฏบวรเดช ในปี พ.ศ. 2476และพระยาศราภัยพิพัฒเขียนบทความชื่อ "ฟ้องในหลวง" โจมตี กรณีนายถวัติ ฤทธิเดช ยื่นฟ้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อศาลอาญาอีกทั้งยังเดินทางไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ที่ปีนัง พระยาศราภัยพิพัฒและพวกถูกหมายจับในข้อหาแจกใบปลิวเถื่อนและปลุกระดมการกบฏจึงหลบหนีด้วยการลงเรือตังเกหนีลงทะเล แต่ถูกจับได้ที่อ่าวไทย
หลังจากนั้นจึงถูกส่งไปจำคุกในฐานะนักโทษการเมือง ที่เกาะตะรุเตา พร้อมกับนักโทษคนสำคัญอีกหลายคน จนกระทั่งในวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2482 เวลาประมาณ 20.00 น. พระยาศราภัยพิพัฒ พร้อมกับเพื่อนนักโทษอีก 4 คน คือ พระยาสุรพันธ์เสนี ขุนอัศนีรัถการ นายหลุย คีรีวัต และนายแฉล้ม เลี่ยมเพ็ชรรัตน์ได้หลบหนีจากที่คุมขังเกาะตะรุเตาในคืนเดือนหงาย พร้อมกับพกมีดชายธงคนละเล่ม ซ่อนตัวในแหเรือตังเก ไปยังเกาะลังกาวีของมาเลเซีย พร้อมกับได้ขอลี้ภัยการเมือง ณ ที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งขณะนั้นยังเป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักรอยู่ ซึ่งทั้งหมดได้สาบานกันว่าจะสู้ตายหากถูกจับได้
บุตรชายของพระยาศราภัยพิพัฒ ชื่อ เลอพงษ์ ศราภัยวานิช เป็นนิสิตคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เดินทางไปเยี่ยมบิดาระหว่างปิดภาคเรียน และเขียนบทความชื่อ "เยี่ยมพ่อ" ตีพิมพ์ในวารสารของมหาวิทยาลัย เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2484 ได้ถูกคำสั่งของ พันเอกประยูร ภมรมนตรี รองอธิการบดีมหาวิทยาลัย ให้คัดชื่อออกจากการเป็นนักศึกษา
ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองได้ร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร ทำหน้าที่เป็นโฆษกสถานีวิทยุของออสเตรเลีย ภาคภาษาไทย ให้การสนับสนุนเสรีไทยภายหลังสงครามที่ได้มีการนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองทั้งหมดแล้ว พระยาศราภัยพิพัฒได้พ้นโทษออกมา และได้แต่งหนังสือชื่อ ฝันร้ายของข้าพเจ้า ที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตทางการเมืองและการถูกคุมขังที่คุกตะรุเตาพร้อมกับได้ร่วมกับเพื่อน ๆ นักเขียนและผู้มีอุดมการณ์ทางการเมืองเดียวกัน ก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ ขึ้น ในพ.ศ. 2489 และได้เป็น ส.ส.ของพรรคอีกด้วย และได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ หลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2490
ในบั้นปลายชีวิต พระยาศราภัยพิพัฒ ได้รับเชิญให้เขียนบทวิเคราะห์การเมือง ในหนังสือพิมพ์ "ปิยมิตร" เป็นครั้งคราว ต่อมาในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2503 ในรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้เขียนพาดพิงถึงเรือนจำลาดยาว ว่าเป็น "สถานที่ราชการที่ไม่มีวันเดือนปี" (หมายความว่า มีนักโทษการเมืองที่ถูกคุมขังโดยไม่รู้ว่าจะได้รับการปล่อยตัวเมื่อไร) ทำให้ตำรวจสันติบาลเรียกตัวบรรณาธิการไปสอบสวน พระยาศราภัยพิพัฒจึงได้ประกาศหยุดเขียนจากนั้นไม่นาน เจ้าพนักงานการพิมพ์ก็ได้มีคำสั่งปิดหนังสือพิมพ์ปิยมิตรลง
อนิจกรรม
พระยาศราภัยพิพัฒ ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2511 ด้วยโรคหัวใจ อายุ 79 ปี
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
- พ.ศ. 2511 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ.) (ฝ่ายหน้า)
- พ.ศ. 2471 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 3 ตริตาภรณ์ช้างเผือก (ต.ช.)
- พ.ศ. 2467 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 3 ตริตาภรณ์มงกุฎไทย (ต.ม.)
- พ.ศ. 2466 – เหรียญจักรมาลา (ร.จ.ม.)
- พ.ศ. 2451 – เหรียญรัชมังคลาภิเศก รัชกาลที่ 5 (ร.ม.ศ.5)
- พ.ศ. 2454 – เหรียญบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 6 (ร.ร.ศ.6)
- พ.ศ. 2468 – เหรียญบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 7 (ร.ร.ศ.7)
- พ.ศ. 2495 – เหรียญบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 9 (ร.ร.ศ.9)
- พ.ศ. 2475 – เหรียญเฉลิมพระนคร 150 ปี (ร.ฉ.พ.)
อ้างอิง
- กำเนิด "ระบอบสีน้ำเงิน" : การรุกคืบทางรัฐธรรมนูญกับการรื้อฟื้นพระราชอำนาจหลัง ๒๔๙๐
- พจนานุกรมชีวิต : สอ เสถบุตร (I-N)
- หนังสือ ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน โดย วินทร์ เลียววาริน พ.ศ. 2540