peoplepill id: phraya-khattiyawongsa-lao-na-roi-et
PK(NR
Thailand
1 views today
1 views this week
Phraya Khattiyawongsa (Lao Na Roi-et
Thai nobleman

Phraya Khattiyawongsa (Lao Na Roi-et

The basics

Quick Facts

Intro
Thai nobleman
Places
Work field
Gender
Male
The details (from wikipedia)

Biography

พระยาขัติยะวงษาเอกาธิกสตานันท์ เจ้าเมืองร้อยเอ็ดองค์สุดท้าย (องค์ที่ 8) ผู้ว่าราชการเมืองร้อยเอ็ดท่านแรก (ดำรงตำแหน่งเมื่อ พ.ศ. 2448-2451 และปกครองเมืองร้อยเอ็ดตั้งแต่ พ.ศ. 2443-2454) อดีตท้าวซานนท์กรมการเมืองร้อยเอ็ด อดีตว่าที่อุปฮาดเมืองร้อยเอ็ด อดีตพระสตาเนทประชาธรรมรักษาราชการเมืองร้อยเอ็ดและปลัดเมืองร้อยเอ็ด เป็นต้นสกุลพระราชทาน ณ ร้อยเอ็จ แห่งจังหวัดร้อยเอ็ดในภาคอีสานของประเทศไทย

ประวัติ

ราชตระกูล

พระยาขัติยะวงษาเอกาธิกสตานันท์ (เหลา ณ ร้อยเอ็จ) มีนามเดิมว่า ท้าวสุวรรณเหลา หรือท้าวเหลา เกิดเมื่อปี 2401 สืบเชื้อสายเจ้านายลาวในราชวงศ์ล้านช้างจากสายราชตระกูลของเจ้าจารย์แก้วหรือเจ้าแก้วบูฮม (เจ้าแก้วมงคล ต้นราชวงศ์เจ้าจารย์แก้วแห่งอีสาน) เจ้าผู้สถาปนาเมืองและครองเมืองท่งศรีภูมิพระองค์แรก (ปัจจุบันคืออำเภอสุวรรณภูมิในจังหวัดร้อยเอ็ด) กำเนิดในราชตระกูลของเจ้านายคณะอาญาสี่เมืองร้อยเอ็ด เป็นบุตรในเพี้ยพระวอ (ท้าวสุวรรณ) กรมการเมืองร้อยเอ็ด พระบิดานั้นต่อมาได้เลื่อนเป็นที่อุปฮาดหรือแสนเมืองเมืองร้อยเอ็ดและเลื่อนเป็นที่เจ้าเมืองร้อยเอ็ดตามลำดับ ฝ่ายมารดามีนามว่า อาชญาแม่ใหญ่ตั้ม พระยาขัติยะวงษาเอกาธิกสตานันท์ (เหลา) เป็นหลานปู่ในเพี้ยขุนแก้ว (ท้าวน้อย) กรมการเมืองร้อยเอ็ด เป็นเหลนทวดในเพียพระนคร (เพียพลคร) หรือท้าวคำ กรมการเมืองร้อยเอ็ดหัวหน้าฝ่ายคัพพชุมหรือหัวหน้าฝ่ายพวกเสพการละคร ดนตรี และนาฏศิลป์เมืองร้อยเอ็ด

อนึ่ง เมืองร้อยเอ็ดนี้เดิมชื่อเมืองสาเกตนคร ต่อมากษัตริย์เมืองสาเกตนครได้สร้างเมืองให้ใหญ่โตขึ้นและเรียกชื่อว่าเมืองฮ้อยเอ็ดประตู เป็นเมืองเอกราชและเป็นนครใหญ่มาตั้งแต่สมัยอาณาจักรศรีโคตรบูร ต่อมาจึงร้างไป จากนั้นเจ้านายในกลุ่มราชวงศ์เจ้าจาย์แก้วแห่งอาณาจักรล้านช้างได้แยกตัวออกจากเมืองท่งศรีภูมิแล้วอพยพไพร่พลมาสถาปนาเมืองขึ้นใหม่ในฐานะนครประเทศราช ต่อมาได้ถูกบังคับให้ขึ้นกับราชอาณาจักรสยามและถูกลดฐานะลงเป็นหัวเมืองชั้นเอก

พระยาขัติยะวงษาเอกาธิกสตานันท์ (เหลา) มีน้องสาว 1 ท่าน นามว่าญาแม่หม่อมนาง และมีน้องชาย 1 ท่านนามว่าญาพ่อใหญ่ขุนบาน กินบรรดาศักดิ์ชั้นขุน เป็นชาวบ้านไผ่ อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด(ธาตุของพ่อใหญ่ขุนบานตั้งอยู่ ณ วันเวฬุวนาราม บ้านไผ่ ตำบลบึงนคร อำเภอธวัชบุรี) ในปัจจุบันทายาทบุตรหลานบางส่วนของพระยาขัติยะวงษาเอกาธิกสตานันท์ (เหลา) เป็นเครือญาติเกี่ยวดองกับตระกูลเจ้านายเมืองเมืองมหาสารคามคือทายาทของพระเจริญราชเดช (กวด) และพระเจริญราชเดช (ฮึง) ซึ่งเจ้านายเมืองมหารสารคามเองก็เป็นกลุ่มราชตระกูลเจ้านายลาวที่แตกวงศาออกไปจากเจ้านายเมืองร้อยเอ็ด

หม่อมและบุตรชาย

พระยาขัติยะวงษาเอกาธิกสตานันท์ (เหลา) มีหม่อมด้วยกันทั้งหมด 3 นาง ได้แก่

  • อาชญาแม่อ่อน
  • อาชญาแม่เหลี่ยม (บุตรีพระราษฎรบริหาร(ทอง) เจ้าเมืองกมลาไสย)
  • อาชญาแม่รจนา

พระยาขัติยะวงษาเอกาธิกสตานันท์ (เหลา) มีบุตรชายเพียงท่านเดียวซึ่งเกิดจากอาชญาแม่อ่อน คือ ท้าวขัติยะ (บุญตา ณ ร้อยเอ็จ) อดีตกรมการเมืองร้อยเอ็ด ท้าวขัติยะ (บุญตา) ได้ตั้งโฮงอยู่ ณ ทิศตะวันออกของคุ้มวัดวนาราม ปัจจุบันอยู่บริเวณร้านร้อยเอ็ดฟลีม อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด

งานราชการ

เดิมท้าวสุวรรณเหลารับราชการในตำแหน่งซานนท์เลขานุการของอุปฮาดเมืองร้อยเอ็ด ต่อมาในวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2442 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รับบรรดาศักดิ์เป็นที่ พระสตาเนกประชาธรรม ตำแหน่งปลัดเมืองร้อยเอ็ด ในต้นปี พ.ศ. 2437 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองร้อยเอ็ดองค์สุดท้าย วันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2448 จึงได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นที่ พระยาขัติยะวงศาเอกาธิกสตานันท์ ปกครองเมืองร้อยเอ็ดต่อจาก พ.ท. พระยาพินิจสารา (ทับทิม บุญยรัตพันธุ์) (พ.ศ. 2434-2446) และได้รับพระราชทานบำเหน็จความชอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตราช้างเผือกชั้น 4 ได้ปกครองเมืองร้อยเอ็ดมาตั้งแต่วันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2446 ถึง พ.ศ. 2452 โดยตั้งโฮงหรือหอโฮงการที่สำเร็จราชการอยู่บริเวณคุ้มหินกอง ปัจจุบันอยู่ในบริเวณที่ตั้งของโรงเรียนอนุบาลไพโรจน์ ทางทิศตะวันออกของวัดสระทอง พระยาขัติยะวงษาเอกาธิกสตานันท์ (เหลา) ได้ปกครองรักษาเมืองร้อยเอ็ดตลอดมาด้วยความสงบเรีบยร้อยจนเกษียรอายุราชการ

การพระศาสนา

พระยาขัติยวงษาเอกาธิสตานันท์ (เหลา) เป็นเจ้าศรัทธาอุปถัมภ์วัดบึงพระลานชัยในเมืองร้อยเอ็ด ครั้งหนึ่งได้เคยอาราธนาพระครูเอกุตตรสตาธิคุณมาเป็นเจ้าอาวาสวัดบึงพระลานชัย ต่อมาได้ย้ายไปจำพรรษอยู่วัดสระทอง ปัจจุบันวัดบึงพระลานชัยเป็นพระอารามหลวง ตั้งอยู่ใกล้กับบึงพระลานชัย เดิมเป็นวัดโบราณใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมฉลองชัยจากการรบของเจ้าเมืองร้อยเอ็ดในสมัยโบราณ และใช้ประกอบพิธีกรรมทางราชการทุกสมัย เช่น ประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาของเจ้าเมืองร้อยเอ็ด ภายในวัดมีสระชัยมงคลเป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ซึ่งใช้ในงานพระราชพิธีของเมืองร้อยเอ็ดและราชสำนักสยามด้วย ในบริเวณวัดปรากฏใบเสมาและศิลาแลงสมัยเมืองฟ้าแดดสูงยาง เมื่อ พ.ศ. 2318 พระยาขัติยวงษา (ธน ธนสีลังกูร) เจ้าเมืองร้อยเอ็ด ได้ชักชวนประชาชนชาวเมืองร้อยเอ็ดถางป่าดงพงหญ้าซึ่งเต็มไปด้วยซากปรักหักพังแล้วบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นเป็นวัด ตั้งนามว่าวัดบึงพระลานชัยคนทั่วไปเรียกว่าวัดบึง พื้นที่ทั่วไปเป็นเนินสูงราบมีสระน้ำ 1 แห่ง และมีไม้ยืนต้นร่มรื่น ต่อมา พ.ศ. 2430 หลวงสงกรานต์วิศิษฐ์ได้รับการสนับสนุนจากพระยาขัติยวงษา (เภา ธนสีลังกูร) เจ้าเมืองร้อยเอ็ดองค์ที่ 7 ได้นำชาวเมืองร้อยเอ็ดบูรณะฟื้นฟูปฏิสังขรณ์ขึ้นเป็นวัดอีกครั้งหนึ่งและให้ชื่อว่าวัดบึงพระลานชัยตามเดิม ปัจจุบัน วัดบึงพระลานชัยถือเป็นศูนย์กลางการศึกษาจังหวัดร้อยเอ็ดและจังหวัดใกล้เคียง เป็นต้นกำเนิดการศึกษาพระปริยัติธรรมทั้งแผนกธรรมและบาลีของจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นศูนย์กลางการศึกษาพระธรรมถึกประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นต้นกำเนิดการศึกษาภาษาไทยวิชาชีพและแพทย์แผนโบราณจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นศูนย์กลางอบรมเยาวชนจังหวัดร้อยเอ็ด และเป็นศูนย์พัฒนาจิตใจของจังหวัดร้อยเอ็ดด้วย

การพระราชทานนามสกุล

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้เจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานนามสกุลแก่ทายาทเจ้าเมืองร้อยเอ็ดว่า ณ ร้อยเอ็จ เขียนแบบอักษรโรมัน Na Roiech ทรงพระราชทานแก่พระยาขัตติยวงษาเอกาธิกะสตานันต์ (เหลา) ผู้ว่าราชการเมืองร้อยเอ็จ ทวดชื่อเพี้ยพระนคร (คำ) ปู่ชื่อเพี้ยขุนแก้ว (น้อย) บิดาชื่อเพี้ยพระวอ (สุวรรณ) เจ้าเมืองร้อยเอ็จ นามสกุลพระราชทานลำดับที่ 1189 พระราชทานเมื่อ 19/3/13 ปัจจุบัน ทายาทบุตรหลานบางส่วนนิยมเขียนนามสกุลเป็น ณ ร้อยเอ็ด

อสัญกรรม

พระยาขัติยะวงษาเอกาธิกสตานันท์ (เหลา) ได้ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2474 ด้วยชราภาพ ทายาทบุตรหลานได้พร้อมใจกันสร้างพระเจดีย์บรรจุอัฐิไว้ ณ วัดสระทอง อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นวัดที่ท่านและทายาทได้ทำนุบำรุงมาโดยตลอด

พระเจดีย์บรรจุพระอัฐิ

พระเจดีย์บรรจุพระอัฐิพระยาขัติยะวงษาเอกาธิกสตานันท์ (เหลา) เรียกโดยทั่วไปว่า ธาตุพระยาขัติยะวงษา (เหลา ณ ร้อยเอ็ด) ตั้งอยู่ ณ วัดสระทอง บริเวณหน้าศาลาพระสังกัจจายน์ อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด ลักษณะเป็นศิลปะลาวหรือศิลปล้านช้างสกุลช่างท้องถิ่น ก่อด้วยอิฐถือปูน ฐานแอวขันทรงสี่เหลี่ยมประดับลายก้านดกเคืออขด กว้างยาวประมาณ 2 เมตร สูงถึงตัวธาตุหรือเรือนธาตุประมาณ 1.30 เมตร องค์ธาตุทรงสี่เหลี่ยมสูงประมาณ 1.30 เมตร ยอดธาตุสูงประมาณ 1 เมตร ด้านทิศตะวันตกจารึกข้อความว่า พ.ศ. 2477 ธาตุพระยาขัติยะวงษา ณ ร้อยเอ็ด เหนือข้อความเป็นรูปราหูอมจันทร์หรือลาหูเสพโสม ด้านทิศตะวันออกเป็นลายปูนปั้นนูนต่ำมีรูปนกจับอยู่ด้านบน 1 คู่ ด้านทิศเหนือเป็นลายเคือวัลย์เกี่ยวพันกัน มีนก 2 ตัว อยู่ด้านบน มีนกฮูกอยู่ตรงกลางและนกอื่นๆ อีก 2 ตัว ด้านทิศใต้ประดับภาพนูนต่ำเป็นปูนปั้นสิงห์ 1 คู่ หันหน้าเข้าหากันอยู่ใต้ซุ้มดอกไม้ ยอดธาตุเป็นรูปน้ำเต้าเหลี่ยมมีนาคเลื้อย 4 มุม ถัดขึ้นไปเป็นปากพาน กลีบบัว และดวงปี นอกจากนี้ทายาทยังนำอัฐิเครือญาติใกล้ชิดของพระยาขัติยวงษาเอกาธิกสตานันท์ (เหลา) มาบรรจุไว้ในพระเจดีย์ด้วย อาทิ ทิศใต้มีป้ายหินอ่อนจารึกนามว่า ขุนสารกิจคำนวณ ทิศเหนือจารึกนามว่า นางทองพูน เสาวคนธ์ ทิศตะวันออกจารึกนามว่า น.พ.เปลื้อง เสาวคนธ์ สันิษฐานว่านำมาบรรจุไว้ภายหลัง

ผลงาน

  • พงศาวดารภาคอีสาน ฉบับของ พระยาขัติยวงษา (เหลา ณ ร้อยเอ็จ)

อ้างอิง

  1. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ร้อยเอ็ด. เจ้าเมืองร้อยเอ็ด. ร้อยเอ็ด : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ. 2555. น. 20-21.
  2. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-11-07. สืบค้นเมื่อ 2016-06-25.
  3. ข้อมูลจากหนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดร้อยเอ็ด หน้า 313-314
  4. http://m-culture.in.th/album/157497
  5. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-06. สืบค้นเมื่อ 2017-05-30.
  6. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-06-20. สืบค้นเมื่อ 2017-05-30.
  7. http://ret.onab.go.th/index.php?option=com_content&view=category&id=53&layout=blog&Itemid=85
  8. http://www.skyscrapercity.com/showthread.php?p=59763957
  9. https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=175479849559645&id=105613013212996&substory_index=0
  10. http://m-culture.in.th/album/157497
The contents of this page are sourced from Wikipedia article. The contents are available under the CC BY-SA 4.0 license.
Lists
Phraya Khattiyawongsa (Lao Na Roi-et is in following lists
comments so far.
Comments
From our partners
Sponsored
Credits
References and sources
Phraya Khattiyawongsa (Lao Na Roi-et
arrow-left arrow-right instagram whatsapp myspace quora soundcloud spotify tumblr vk website youtube pandora tunein iheart itunes