Dutsadi Malakun Na Ayutthaya
Quick Facts
Biography
ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา (สกุลเดิม ไกรฤกษ์, เกิด 4 กันยายน พ.ศ. 2447— ถึงแก่อนิจกรรม 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2540) เป็นธิดาของเจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์) กับท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร (สกุลเดิม บางยี่ขัน)
ประวัติ
ท่านผู้หญิง ดุษฎีมาลา ได้บันทึกในหนังสือเรื่องของคนห้าแผ่นดินถึงชื่อของท่านว่า "เมื่อคุณพ่อกลับจากสิงคโปร์แล้วจึงตั้งชื่อให้ฉันว่า ดุษฎีมาลา ตามชื่อเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา ซึ่งท่านได้รับพระราชทานเป็นบำเหน็จ เมื่อสอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิตชั้นที่ ๑ คนแรกของประเทศไทย" ชื่อของท่านผู้หญิงที่ถูกต้องจึงเป็น ดุษฎีมาลา แต่ในประกาศหลายฉบับหรือบันทึกต่างๆ ได้เรียกชื่อท่านผู้หญิงอย่างลำลองว่า ท่านผู้หญิงดุษฎี
ต่อมาได้สมรสกับหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล บุคคลสำคัญของโลกและศิลปินแห่งชาติ แต่ไม่มีบุตรธิดาด้วยกัน
นอกจากนี้ท่านผู้หญิงยังเคยเป็นผู้ถวายงานรับใช้ในตำแหน่งนางสนองพระโอษฐ์ในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7
ท่านผู้หญิง ดุษฎีมาลาเป็นผู้ประพันธ์คำไหว้ครูที่ใช้อยู่ในปัจจุบันที่ว่า ข้าขอประณตน้อมสักการบูรพคณาจารย์ ผู้กอปรเกิดประโยชน์ศึกษาทั้งท่านผู้ประสาทวิชาอบรมจริยาแก่ข้าในกาลปัจจุบันข้าขอเคารพอภิวันทน์ระลึกคุณอนันต์ด้วยใจนิยมบูชาขอเดชกตเวทิตา อีกวิริยะพาปัญญาให้เกิดแตกฉานศึกษาสำเร็จทุกประการอายุยืนนานอยู่ในศีลธรรมอันดี ให้ได้เป็นเกียรติเป็นศรีประโยชน์ทวีแก่ชาติและประเทศไทยเทอญ
ถึงแก่อนิจกรรม
ท่านผู้หญิง ดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 สิริรวมอายุได้ 92 ปี 10 เดือน พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
- พ.ศ. 2522 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)
- พ.ศ. 2509 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)
- พ.ศ. 2516 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) (ฝ่ายใน)
- พ.ศ. 2469 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 7 ชั้นที่ 5 (ป.ป.ร.5)
- พ.ศ. ไม่ปรากฏ – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 ชั้นที่ 2 (ภ.ป.ร.2)