peoplepill id: chao-phraya-phitsanulok-rueng-rochonkul
CPP
1 views today
1 views this week
Chao Phraya Phitsanulok (Rueng Rochonkul)

Chao Phraya Phitsanulok (Rueng Rochonkul)

The basics

Quick Facts

The details (from wikipedia)

Biography

เจ้าพระยาพิษณุโลก (พ.ศ. 2262 - พ.ศ. 2311) (เขียนแบบเก่า "เจ้าพระยาพิศณุโลก") เดิมชื่อ เรือง หรือ บุญเรืองเป็นเจ้าพระยามหานครผู้ครองหัวเมืองชั้นเอก เมืองพิษณุโลก และเป็นผู้ตั้งชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง มีราชทินนามขุนนางตามที่ปรากฏในทำเนียบพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน นาทหาร หัวเมือง พ.ศ. 1998 ว่า “เจ้าพระยาสุรสีห์พิศณุวาธิราช ชาติพัทยาธิเบศราธิบดี อภัยพิริยบรากรมภาหุ”เจ้าเมืองพิษณุโลกเอกอุหรือเจ้าเมืองขุนนางระดับ นา 10000 เอกอุ (นา 10000 ชั้นสูงสุด) ถือศักดินา 10000 และเจ้าพระยาพิษณุโลกเป็นต้นสกุล "โรจนกุล”

ราชการและบรรดาศักดิ์

เจ้าพระยาพิศณุโลก (เรือง) เริ่มรับราชการตั้งแต่วัยเยาว์ในรัชสมัยสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 (พระเจ้าท้ายสระ) แต่ไม่ปรากฏตำแหน่งใด กรมใด บรรดาศักดิ์เท่าที่ปรากฏไว้มีดังนี้

  • หลวงมหาอำมาตยาธิบดี (เรือง) ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (ไม่ทราบศักดินา)
  • พระราชฤทธานนพหลภักดี (เรือง) ศักดินา 3000 ตำแหน่งพระปลัดเมืองพระพิษณุโลก รั้งหัวเมืองพิษณุโลก ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (หัวเมืองพิษณุโลกมีปลัดเมือง 2 คน ไม่ปรากฏชื่อปลัดขุนนางคนที่ 2)
  • พระยาพิศณุโลก (เรือง) ศักดินา 10000 (พระยาพานทอง) ตำแหน่งเจ้าเมืองพระพิษณุโลก สมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ขึ้นกับกรมมหาดไทย เมืองพิษณุโลก ปรากฏราชทินนามว่า พระยาสุรสุนทรบวรพิศณุวาธิราช ชาติพัทยาธิเบศราธิบดี อภัยพิรียบรากรมภาหุ
  • เจ้าพระยาพิศณุโลก (เรือง) ศักดินา 10000 (บรรดาศักดิ์ขุนนางชั้นสูงสุด) ตำแหน่งเจ้าเมืองพระพิษณุโลก สมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ สมัยสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร และสมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศ) พ.ศ. 2302 ปรากฏราชทินนามว่าเจ้าพระยาสุรสีห์พิศณุวาธิราช ชาติพัทยาธิเบศราธิบดี อภัยพิริยบรากรมภาหุ สำหรับตำแหน่งเจ้าพระยามหานครผู้ครองหัวเมืองชั้นเอกดัง ให้รับราชการเจ้าเมืองที่เมืองพิษณุโลก แม้ไม่ได้เป็นเจ้านายแต่ก็ยังอยู่ในฐานะพิเศษ เพราะเมืองพิษณุโลกเป็นเมืองหลวงในช่วงที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงครองราชย์ในช่วงราชอาณาจักรอยุธยาซึ่งเป็นช่วงที่มีส่งครามยืดเยื้อกับอาญาจักรล้านนา ไม่เพียงแต่เป็นเมืองพระมหาอุปราช แต่ยังเป็นเมืองยุทธศาสตร์ที่คอยดูแลหัวเมืองเหนือทั้งหมดและดูเหตุการณ์ด้านเมืองพม่าและเมืองมอญ

เจ้าพระยาสุรสีห์ ฯ นั้นเป็นราชทินนามประจำเจ้าเมืองพิษณุโลกในสมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ สำหรับขุนนางบรรดาศักดิ์ชั้นเจ้าพระยา และพระญาติพระวงศ์ที่ครองหัวเมืองพิษณุโลก

  • พระเจ้าพิศณุโลก (เรือง) (หรือ King Ruang)ราชาภิเษกตนเองเป็นพระมหากษัตริย์ครองหัวเมืองพิษณุโลกเมื่อ พ.ศ. 2311 สมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โดยจัดพระราชพิธีราชาภิเษกตามระบบจารีตประเพณีของอาณาจักรอยุธยา มีพระราชปุโรหิตาจารย์ในสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ ขุนนางหัวเมืองขั้นโทชั้นตรีรอบเมืองพิษณุโลกต่างๆ และขุนนางที่หลบหนีมาจากกรุงศรีอยุธยาครั้นกรุงแตกจำนวนมากร่วมพระราชพิธีดังกล่าว ทรงสำเร็จราชการแผ่นดินเมืองพิษณุโลก หัวเมืองชั้นเอก ครอบคลุมทั้ง 7 มณฑล พระเจ้าพิศณุโลก (เรือง) มีพระราชประสงค์ต้องการรวบเข้ากับชุมนุมเจ้าพระฝาง (เรือน) ให้เป็นปึกแผ่นเพื่อให้มีพระราชอำนาจครอบคลุมหัวเมืองเหนือทั้งหมด โดยพยายามยกทัพไปตีชุมนุมเจ้าพระฝาง (เรือน) ถึง 3 ครั้ง รวมทั้งยังมีความพยายามที่จะบูรณะฟื้นฟูพระราชวังจันทน์เพื่อใช้เป็นที่ประทับ โดยพบร่องรอยหลักฐานบางประการภายในบริเวณพระราชวังเก่านี้ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับเจ้าเมืองพิษณุโลกก่อนเสด็จสวรรคตด้วยโรคฝีละลอกในคอในฤดูน้ำหลาก

หมายเหตุ:

1) สันนิษฐานว่าอาจจะได้ตั้งบรรดาศักดิ์ชั้นพระยา และเจ้าพระยาในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เนื่องจากไม่พบหลักฐานว่าสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ตั้งเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) เพราะขณะนั้นเป็นช่วงฉุกละหุกเกิดการสับเปลี่ยนกษัตริย์ภายในราชวงศ์ ประกอบกับหัวเมืองพิษณุโลกเป็นเมืองเอกที่เป็นหน้าด่านเกิดสงครามบ่อยครั้ง อย่างไรก็ตามปรากฏบรรดาศักดิ์เด่นชัดของเจ้าพระยาพิศณุโลก (เรือง) ในสมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ เมื่อได้ทรงครองราชย์ต่อจากสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร

2) สันนิษฐานว่าเจ้าพระยาพิศณุโลก (เรือง) อาจเกี่ยวดองกับราชวงศ์บ้านพลูหลวงในฐานะเครือญาติ ได้รับการไว้วางพระทัยให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนหัวเมืองพิษณุโลกทุกรัชสมัย และมีการกล่าวถึงในพระนิพนธ์เรื่อง ไทยรบพม่า ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตอนเจ้าฟ้าจีดพาพรรคพวกหนีไปยังเมืองพิษณุโลกว่าทำนองจะเกี่ยวดองว่าเป็นญาติกับเจ้าพระยาพิศณุโลกอย่างใดอย่างหนึ่ง

3) เจ้าเมืองพิษณุโลกทำพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาร่วมกับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

เครื่องยศขุนนางที่ได้รับพระราชทาน

เจ้าพระยาพิษณุโลก ได้รับพระราชทานเครื่องยศดังนี้

  • ขี่คานหามกรรชิงหุ้มผ้าขาว (ขุนนางสามัญชน) (สำหรับขุนนางหัวเมืองชั้นเจ้าพระยา)
  • ดาบพระแสงราชศัสตรา (พระแสงดาบอาญาสิทธิ์) ประจำหัวเมืองพิษณุโลก
  • เครื่องสูง
  • พานทอง
  • น้ำเต้าน้ำทอง
  • เสลี่ยงงา เสลี่ยงกลีบบัว
  • เจียดทองซ้ายขวา
  • เครื่องทอง
  • กระบี่กั้นหยั่น กระบี่บั้งทอง

ความเกี่ยวข้องกับสงครามพระเจ้าอลองพญา

เมื่อ พ.ศ. 2302 ในสมัยที่สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศ) เสด็จขึ้นครองราชย์ต่อจากสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร (เจ้าฟ้าดอกเดื่อ) ได้เพียง 1 ปี เกิดสงครามพระเจ้าอลองพญาอันเนื่องมาจากความขัดแย้งทางทหารระหว่างราชวงศ์คองบองของพม่ากับอาณาจักรอยุธยาสมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวง สงครามเริ่มต้นขึ้นราวเดือนธันวาคม ฝ่ายพม่าหมายจะยกทัพมารุกรานอาณาจักรอยุธยา และนำไปสู่การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองในปี พ.ศ. 2310

เมื่อ พ.ศ. 2304 ภายหลังจากที่ “เนเมียวสีหบดี” เสร็จสิ้นจากการไปตีหัวเมืองมอญแล้ว “มังลอก” พระโอรสองค์ใหญ่ของพระเจ้าอลองพญา จัดทัพมาตีเชียงใหม่ โดยมี “อภัยคามณี” เป็นแม่ทัพ และ “มังละศิริ” เป็นปลัดทัพพร้อมด้วยพลจำนวน 7,500 นาย พระเจ้าจันทร์ เจ้าผู้ครองเมืองเชียงใหม่ กรุงศรีอยุธยาในขณะนั้น ทรงแต่งหนักสือมาถวายพระเจ้าเอกทัศพร้อมด้วยเครื่องราชบรรณาการ มีพระประสงค์ให้เชียงใหม่เป็นเมืองออกของอยุธยา และขอกำลังทหารไปรักษาเมืองใหม่ พระเจ้าเอกทัศจึงตรัสสั่งให้เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) เกณฑ์ทัพพลหัวเมืองเหนือจำนวน 5,000 นาย ยกไปช่วยเมืองเชียงใหม่ แต่ทัพเจ้าพระยาพิษณุโลกไปได้ถึงบ้านระแหงนั้นจึงได้ทราบข่าวว่าฝ่ายพม่าล้อมเมืองเชียงใหม่แล้วแต่ฝ่ายเชียงใหม่มีกำลังไม่แข็งกล้านักจึงเสียเมืองให้แก่ฝ่ายพม่าไปโดยมี “เนเมียวสีหบดี” อยู่รักษาเมืองเชียงใหม่

เมื่อ พ.ศ. 2309 “เนเมียวสีหบดี” ซึ่งอยู่รักษาเมืองเชียงใหม่กับ “มังมหานรธา” ซึ่งอยู่รักษาเมืองที่ทวายได้รับหนังสือจากพระเจ้ามังระภายหลังจากที่เสด็จไปประทับกรุงอังวะ เมืองหลวงของพม่าว่าให้ยกทัพไปตีกรุงศรีอยุธยา ทั้งนี้ก็เป็นพระประสงค์ของพระเจ้าอลองพญาที่ตรัสสั่งไว้ก่อนสิ้นพระชนม์ว่าให้ตีอยุธยาให้ได้ ทั้งสองจึงต่างเกณฑ์พลยกทัพเข้าปล้นเมืองต่าง ๆ อีกฝ่ายหนึ่งบุกปล้นตั้งแต่เมืองนครสวรรค์ลงมาถึงเมืองอินทรเมืองพรหม (จังหวัดสิงห์บุรี) อีกฝ่ายหนึ่งก็ปล้นอยู่แถวเมืองสุพรรณบุรี เมืองราชบุรี และเพชรบุรี แล้วจึงมารวมทัพกันโดยหวังทำลายกำลังฝ่ายอยุธยาตั้งแต่ชั้นนอก พระเจ้าเอกทัศจึงตรัสให้เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) เกณฑ์ทัพหัวเมืองเหนือไปขับไล่ และให้ทัพในกรุงยกทัพไปไล่พม่าทั้งด้านเมืองนครสวรรค์และเมืองราชบุรีด้วย โดยทัพด้านเหนือให้พระยาธิเบศร์บริวัตรเป็นแม่ทัพทัพใต้ให้พระสุนทรสงครามเป็นแม่ทัพต่อมาพระเจ้าเอกทัศทรงทราบความว่าพม่าตามตีมาจนถึงธนบุรีก็ตกพระทัยเกรงว่าพม่าจะล่วงจู่โจมเข้าถึงพระนคร จึงให้พระยารัตนาธิเบศร์คุมกองทัพซึ่งเกณฑ์มาจากนครราชสีมาลงมารักษาธนบุรีอีกทัพหนึ่งให้พระยายมราชคุมกองทัพอีกกองหนึ่งลงมารักษานนทบุรีคอยสกัดพม่าเอาไว้ ส่วนทัพของเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ขับไล่พม่าจนมาสิ้นสุดที่พระนครศรีอยุธยา ณ วัดภูเขาทอง ตามพระประสงค์ของพระเจ้าเอกทัศแต่เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ถือโอกาสให้เจ้าพระยาพลเทพกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระบรมราชานุญาตพระเจ้าเอกทัศแทนตนเพื่อขอไปปลงศพมารดาโดยให้หลวงโกษา (ยัง) และหลวงเทพเสนาคุมทัพ ต่อมาเนเมียวสีหบดีรวบรวมพลจากล้านนา และล้านช้างราว 40,000 นาย จึงยกทัพจากเชียงใหม่แบ่งมาทางตาก และทางสวรรคโลก ตีหัวเมืองเหนือเรื่อยลงมา ฝ่ายเจ้าเมืองกรมการหัวเมืองเหนือเห็นข้าศึกพม่ามามากมายจึงหลบหนีเข้าป่า พม่าก็ได้หัวเมืองเรื่อยมาตั้งแต่พิชัย สวรรคโลก จนถึงเมืองสุโขทัย หลังพม่ายึดหัวเมืองสุโขทัยได้จึงตั้งค่ายอยู่ที่สุโขทัย เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) กับเจ้าเมืองกรมการหัวเมืองเหนือตัดสินใจรวบรวมพลยกทัพไปช่วยพระยาสุโขทัยรบพม่าที่ยึดเมืองเมืองสุโขทัยและเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) มักถือดาบพระแสงราชศัสตราหรือพระแสงดาบอาญาสิทธิ์ที่ได้รับพระราชทานจากพระเจ้าเอกทัศตลอดเวลาขณะไปราชการศึกหัวเมืองเหนือ

หลังจากเจ้าพระยาพิษณุโลกยกทัพออกไปแล้ว พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจีด กรมขุนสุรินทรสงคราม พระราชโอรสของพระองค์เจ้าชายแก้วกับเจ้าฟ้าหญิงเทพ พระราชธิดาของสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 (สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระหรือเจ้าฟ้าเพชร) และเป็นพระราชนัดดาของสมเด็จพระเพทราชา ขณะนั้นทรงต้องโทษอยู่ในกรุง เมื่อสถานการณ์ระส่ำระสาย เจ้าฟ้าจีดจึงตัดสินบนผู้คุมหลุดจากที่คุมขังแล้วจึงรวบรวมพรรคพวกยกกันไปเมืองพิษณุโลก ปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ความว่า

ฝ่ายเจ้าพระยาพิศณุโลกก็ยกกองทัพไปช่วยรบพม่าณเมืองศุโขไทยด้วยขณะนั้นเจ้าฟ้าจีดเปนบุตรพระองค์เจ้าดำซึ่งต้องสำเร็จโทษครั้งเจ้าฟ้าอไภยเจ้าฟ้าบรเมศรพระมารดานั้นเจ้าฟ้าเทพเปนพระราชธิดาสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงแผ่นดินทรงปลาแลเปนเจ้าพี่เจ้าฟ้านิ่มเจ้าฟ้าสังวาลซึ่งเปนโทษครั้งกรมพระราชวังนั้นแลเจ้าฟ้าจีดต้องโทษจำอยู่ในพระราชวังหลวงโกษาผลเมืองพระพิศณุโลกช่วยคิดอ่านให้หนีออกจากโทษได้ไปรับณค่ายภูเขาทองแล้วพากันหนีไปเมืองกับทั้งบ่าวไพร่ในกองของตัว

เมื่อมาถึงแล้วไม่พบเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) เจ้าเมือง จึงมีแผนหมายจะยึดเมืองพิษณุโลกโดยคิดหลอกให้เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) เข้าใจผิดว่าเพื่อรักษาเมืองให้มั่นคง จึงเรียกขุนนางในเมืองสั่งความว่าตนจะเป็นเจ้าเมืองแทน เมื่อเจ้าฟ้าจีดขึ้นนั่งเมืองพิษณุโลก จึงได้แอบเข้าเก็บริบทรัพย์สินเงินทองและยังจุดเพลิงเผาจวนเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ทิ้งเสียชาวเมืองต่างไม่มีผู้ใดกล้าสู้ด้วยเห็นว่าเป็นเจ้านาย ซึ่งหลวงโกษา (ยัง) ทหารเอกของเจ้าพระยาพิษณุโลกคิดเห็นชอบกับเจ้าฟ้าจีดด้วยเหตุว่าเป็นเจ้านายเช่นกัน แต่ญาติของเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) เห็นการณ์ ท่านผู้หญิงเชียงภริยา พร้อมด้วยพรรคพวกและบ่าวไพร่จำนวนหนึ่งแอบหนีลงเรือขึ้นไปยังเมืองสุโขทัย เพื่อนำความไปแจ้งกับเจ้าพระยาพิษณุโลก เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) จึงเลิกทัพกลับมา เจ้าฟ้าจีดสั่งให้ทหารเตรียมรบป้องกันเมืองแต่ทหารกลับไม่ต่อสู้ใด ๆ เพราะทหารในเมืองต่างก็นับถือเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) เมื่อทหารจับตัวเจ้าฟ้าจีดได้เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) จึงว่ากล่าวติเตียนแล้วจับส่งตัวไปยังพระนคร แต่มีพม่าตั้งทัพอีกที่เมืองนครสวรรค์จึงลงไปพระนครไม่ได้ สั่งให้ทหารจับตัวเจ้าฟ้าจีดไปถ่วงน้ำที่เกยชัยบริเวณน้ำน่านและน้ำยม บรรดาพรรคพวกก็เอาไปประหารเสีย ในระหว่างที่เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) กลับมาปราบเจ้าฟ้าจีด พม่าถือโอกาสยกทัพล่วงเลยจากสุโขทัยมานครสวรรค์ลงมายังกำแพงเพชร หมายจะรุกรานกรุงต่อไป เมืองพิษณุโลกจึงมิได้เสียเมืองแก่พม่า (ทางไทยกล่าวว่า "...ทำนองเจ้าพระยาพิศณุโลกจะเปนคนเข้มแข็ง จึงรักษาเมืองพิศณุโลกไว้ได้..." แต่ทางพม่ากล่าวว่าพม่าได้เมืองพิษณุโลกด้วย)

หมายเหตุ:
ประเด็นเรื่องการเสียเมืองพิษณุโลก
เนเมียวสีบดีพร้อมกองทัพพม่า 40,000 นายเดินทางมาจากเชียงใหม่มาทางเมืองสวรรคโลก และเมืองสุโขทัย ซึ่งหัวเมืองเหนือพระเจ้าเอกทัศโปรดให้เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) รักษาหัวเมืองอยู่ (ยังคงอยู่ที่หัวเมืองพิษณุโลก) เมื่อกองทัพพม่าเริ่มตีได้เมืองสวรรคโลกเข้ามา เจ้าพระยาพิษณุโลก จึงยกทัพไปช่วยเมืองสุโขทัย ในระหว่างนี้เจ้าฟ้าจีดถือโอกาสตั้งเป็นเจ้าเมืองเสียเอง เจ้าพระยาพิษณุโลกทราบข่าวจึงกลับมาปราบเจ้าฟ้าจีดจนสำเร็จและตั้งทัพรักษาเมืองพิษณุโลกไว้ เมืองสุโขทัยต้านทัพพม่าไม่ไหวจึงเสียเมืองให้พม่าเพราะเจ้าพระยาพิษณุโลกนำทัพกลับไปหัวเมืองพิษณุโลกไปแล้ว เมืองที่พม่าตีได้คือเมืองสวรรคโลก เมืองสุโขทัย เมืองพิชัย เมืองพิจิตร (หลวงโกษา เจ้าเมืองพิจิตรมาช่วยราชการอยู่ที่หัวเมืองพิษณุโลกอยู่ก่อนจะเสียเมือง) หลังจากนั้นกองทัพเนเมียวสีหบดีจึงมารวมที่เมืองนครสวรรค์เคลื่อนทัพผ่านสิงบุรีห์ลงไปตั้งกองทัพอยู่ที่ วัดป่าฝ้าย ชานกรุงศรีอยุธยา

'ข้อสันนิษฐาน: หากพม่าตีเมืองพิษณุโลกได้'

1.1) เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ไม่อาจมีกำลังไพร่พลพอที่จะตั้งชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ได้ วิธีพม่ายกทัพเข้ามาในครั้งนี้ปรากฏในพงศาวดารพม่าที่กำหนดไว้เป็นอุบายไว้คือ "...ถ้าเมืองไหน หรือแม้แต่ตำบลบ้านไหนต่อสู้ พม่าตีได้แล้ว เก็บริบทรัพย์สมบัติเอาจนหมด ผู้คนก็จับเปนเชลยส่งไปเมืองพม่า แล้วให้เผาบ้านช่องเสียไม่ให้เหลือ ถ้าบ้านไหนเมืองไหนเข้าอ่อนน้อมต่อพม่าโดยดี พม่าให้กระทำสัตย์แล้ว ไม่ปล้นสดมภ์เก็บริบทรัพย์สมบัติ เปนแต่เรียกเอาเสบียงอาหารผู้คนพาหนะมาใช้สรอยการทัพตามแต่จะต้องการ..."เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) คงมิอาจเข้าอ่อนน้อมพม่าให้เสียเมืองแต่โดยดี

1.2) ทัพเนเมียวสีบดีอาจเสียกำลังพล มีกำลังไม่เพียงพอที่จะตีหัวเมืองล่างๆ เมืองพิษณุโลกอีกจำนวนมากเพราะกองทัพของเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) เข้มแข็งมาก

(ข้อมูลพงศาวดารของไทยและของพม่าขัดแย้งกัน ไม่อาจกล่าวได้ว่าฝ่ายใดถูกต้องกว่าใคร)

ความเกี่ยวข้องกับชุมนุมใหญ่หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง

การหลบหนีของพระญาติพระวงศ์สู่เมืองพิษณุโลก

เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310 ตรงกับวันอังคาร ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 5 ปีกุน นพศก ขณะที่กรุงศรีอยุธยาเกิดสงครามกับพม่าจวนจะเสียแก่ข้าศึก โดยมีทัพ “เนเมียวสีหบดี” กับทัพ “มังมหานรธา” เข้ารุกรานกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (บุญมา) สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก (ทองดี) และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าลา กรมหลวงจักรเจษฎา (คุณลา) ทรงหลบหนีไปอยู่เมืองพิษณุโลก ซึ่งเจ้าพระยาพิษณุโลกเป็นเจ้าเมืองอยู่โดยมี นายทองขวัญและนายแย้มบุตรของหลวงรักษ์เสนา (จำรัส) เป็นผู้ติดตามมาด้วยสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกเป็นพระสหายเก่าของเจ้าพระยาพิษณุโลก จึงได้รับต้อนรับอย่างดีถึงกับสถาปนาบรรดาศักดิ์แก่สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก (ขณะนั้นสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกทรงมีราชทินนามว่าออกพระอักษรสุนทรศาสตร์ กรมมหาดไทย)เป็นอัครมหาเสนาบดีตำแหน่งสมุหนายกแคว้นพิษณุโลก มีราชทินนามว่า เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ สมุหนายกอัครมหาเสนาบดี อภัยพิริยบรากรมภาหุ ศักดินา 10000ดังปรากฏใน พระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงเซอร์ ยอน เบาริง (1969:62 - 63) ความว่า

บรรพบุรุษของพระองค์เดิมเป็นชาวมอญอยู่ในกรุงหงสาวดี ได้ติดตามสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเข้ามารับราชการในกรุงศรีอยุธยา เมื่อตอนสมเด็จพระนเรศวรประกาศอิสรภาพ ท่านผู้นี้คือ พระยาเกียรติ ได้เข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่วัดขุนแสน ได้มีลูกหลานสืบต่อมาจนถึงโกษาปานในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ โดยเป็นราชทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งกรุงฝรั่งเศส ต่อมาลูกหลานคนหนึ่งได้รับราชการกับเจ้าพระยาพิษณุโลกเมื่อตอนกรุงศรีอยุธยาแตก และได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระอักษรสุนทรเสมียนตรา พระอักษรเสมียนตรามีลูกหลานหลายคน คนที่ 4 เป็นชาย ซึ่งต่อมาได้ขึ้นครองราชสมบัติเป็น พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งเป็นปู่ของพระองค์ท่าน

และตั้งนายทองขวัญ ผู้ติดตาม เป็นนายชำนาญ (กระบวน) นายเวรกรมมหาดไทย เมืองพิษณุโลก สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก ทรงประทับอยู่ที่เมืองพิษณุโลกจนสวรรคตก่อนที่จะเสียกรุง เนื่องจากทรงพระประชวร

ต่อมามีการตั้งชุมนุมใหญ่จำนวน 5 ชุมนุมแต่อีก 1 ชุมนุมมักไม่นับด้วยเพราะถือเป็นชุมนุมชนชาติอื่น คือ

  • ชุมนุมพระยาตาก (สิน) หรือพระยาวชิรปราการ ตั้งอยู่ที่จันทบุรี
  • ชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) มีอาณาเขตเมืองพิชัย - เมืองนครสวรรค์
  • ชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช (หนู) มีอาณาเขตตั้งแต่เมืองชุมพร - มลายู
  • ชุมนุมเจ้าพิมาย (พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าแขก กรมหมื่นเทพพิพิธ) พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มีอาณาเขตตั้งแต่เมืองสระบุรี พิมาย ล้านช้าง กัมพูชา
  • ชุมนุมเจ้าพระฝาง (เรือน) มีอาณาเขตตั้งแต่เมืองแพร่ น่าน และหลวงพระบาง
  • ชุมนุมสุกี้ (ชุมนุมชนชาติมอญ) หรือนายทองสุก ตั้งอยู่ที่ค่ายโพธิ์สามต้น (ปัจจุบันคือพื้นที่ ต.พุทเลา และ ต.โพธิ์สามต้น อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา)

ชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง)

ชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลกเป็นชุมนุมของขุนนางตามระบบจารีตของอาณาจักรอยุธยา ซึ่งเจ้าพระยาพิษณุโลก ตั้งตัวเป็นผู้นำ ชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลกถือเป็นชุมนุมหัวเมืองเหนือที่ใหญ่ที่สุด ตั้งอยู่บนฝั่งลำน้ำน่าน มีอาณาเขตตั้งแต่เมืองพิชัยลงมาจนถึงเมืองนครสวรรค์และปากน้ำโพครอบคลุม 7 มณฑล คือ 1. เมืองพิษณุโลก (เมืองสรลวงสองแคว)2. เมืองสุโขทัย (นครไทย) 3. เมืองศรีสัชนาลัย (เมืองสวรรคโลก หรือเมืองเชลียง หรือเมืองเชียงชื่น)4. เมืองกำแพงเพชร (รวมเมืองนครชุม)5. เมืองพิจิตร (รวมเมืองปากยม)6.เมืองพระบาง และ 7. เมืองทุ่งยั้ง (เมืองพิชัย) หลังจากตั้งตนเองเป็นผู้นำชุมนุมแล้วได้มีบรรดาข้าราชการเก่ากรุงศรีอยุธยามาสวามิภักดิ์ด้วยหลายนายเนื่องจากเจ้าพระยาพิษณุโลกเป็นผู้มีความสามารถในการสู้รบ เป็นขุนนางเก่าแก่ชั้นสูงในสมัยกรุงศรีอยุธยา จึงมีผู้นับถืออยู่มาก

เมื่อ พ.ศ. 2311 หลังจากที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบข้อมูลจากเจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) เกี่ยวกับเจ้าพระยาพิษณุโลก ราวเดือนตุลาคม ฤดูน้ำหลากจึงยกทัพด้วยกำลังพล 15,000 นาย ไปปราบชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลกเป็นชุมนุมแรกซึ่งเป็นชุมนุมใหญ่ เจ้าพระยาพิษณุโลกจึงได้ให้หลวงโกษา (ยัง) ยกกองทัพมาตั้งรับที่ตำบลเกยชัย เขตเมืองนครสวรรค์ คอยดักซุ่มสกัดทัพ ครั้นกองทัพของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียกขึ้นไปถึง ก็ได้ปะทะรบพุ่งกันอย่างสามารถ ทหารฝ่ายชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก ได้ยิงปืนมาถูกพระชงฆ์ (หน้าแข้ง) ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้รับบาดเจ็บ จึงต้องยกทัพกลับ ดังปรากฏในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่มที่ 3 บันทึกว่า

เจ้าพระพิษณุโลก (เรือง) ได้ทราบข่าวศึก จึงแต่งให้หลวงโกษา (ยัง) ยกกองทัพลงมาตั้งรับ ได้รบกันเป็นสามารถ ข้าศึกยิงปืนมาต้องพระชงฆ์ข้างซ้าย จึงให้ล่าทัพหลวงกลับมายังกรุงธนบุรี

ปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวว่า

พระยาพิษณุโลกรู้ประพฤติเหตุ แต่งพลทหารให้หลวงโกษา (ยัง) ยกออกมาตั้งรับ พระเจ้าอยู่หัวเสด็จนำพลทั้งปวงเข้ารณรงค์ด้วยข้าศึกครั้งนั้น ฝ่ายข้าศึกยิงปืนมาดังห่าฝนต้องพระชงฆ์เบื้องซ้าย เลียบตัดผิวพระมังสะไปจึงให้ลาดทัพกลับยังกรุงธนบุรี

พระยาศรีสัชนาลัยบดี (เลี้ยง ศิริปาละกะ) บันทึกว่า

ในปลายปีชวดนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จยกพยุหโยธาไทยจีน สรรพด้วยสรรพาวุธทั้งทางบกทางเรือ ขึ้นไปตีเมืองพิษณุโลก ซึ่งเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ตั้งตัวเป็นเจ้าแข็งเมืองอยู่ ได้รบกันเป็นสามารถ ข้าศึกยิงปืนกระสุนปืนเฉียดขาเจ้าหมื่นไวยวรนาถ ซึ่งนั่งเรือหน้าพระที่ นั่งผ้านุ่งขาด กระสุนเลยไปต้องพระองค์เบื้องซ้าย จึงได้ล่าทัพกลับพระนคร

บันทึกความทรงจำของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากุ กรมหลวงนรินทรเทวี บันทึกไว้ว่า

ไปตีเกยชัย ถูกปืนไม่เข้า

ชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) นับเป็นชุมนุมใหญ่ชุมนุมแรกที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไปตีแล้วไม่สำเร็จผลจากการที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไม่สามารถเอาชนะชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ทำให้พระยาพิษณุโลก (เรือง) ต้องการมีอำนาจหัวเมืองเหนือจึงตั้งตนเป็นพระมหากษัตริย์เป็น "พระเจ้าพิษณุโลก"ทำให้ขุนนางเก่าอยุธยาบางส่วนเกิดความไม่พอใจหนีไปเป็นบริวารของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ตามที่ปรากฏ "มีชาวเมืองพิษณุโลก เมืองพิจิตรแตกมาสู่โพธิสมภาร" ความเข้มแข็งชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) เพิ่มมากขึ้นเพราะได้ยกทัพไปตีชุมนุมเจ้าพระฝาง (เรือน) ถึง 3 ครั้ง แต่ไม่แพ้ไม่ชนะกัน ต่อมาก็เสด็จสวรรคตด้วยโรคฝีละลอกเดือน 11 ปีชวดสัมฤทธิศก ตรงกับเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2311 ด้วยเหตุเมืองพิษณุโลกขณะนั้นเกิดโรคห่าระบาดไปทั่ว“พระเจ้าพิษณุโลก” ก็ถึงแก่อสัญกรรม “เจ้าพระยาพิษณุโลกอยู่ในราชสมบัติ 6 เดือน พระชนมายุได้ 49 ปี ก็เสด็จสวรรคตไปตามยถากรรม”แต่ก็มีอีกหลักฐานที่ขัดแย้งกับเหตุผลของนิธิ เอียวศรีวงศ์ดังกล่าวว่า “กำเริบถือตัวมีบุญญาธิการ จึงตั้งตัวขึ้นเป็นเจ้าแผ่นดินรับราชโองการอยู่ได้ประมาณ 7 วัน ก็บังเกิดวัณโรคขึ้นในคอ (โรคฝีละลอก) ถึงพิราลัย”พระอินทร์อากร น้องชายของเจ้าพระยาพิษณุโลกจึงได้ขึ้นครองเมืองแทน แต่ไม่ได้สถาปนาเป็นกษัตริย์ ภายหลังเมืองพิษณุโลกอ่อนแอลงเนื่องจากพระอินทร์อากรไม่ชำนาญการรบและไม่เป็นที่นิยมของชาวเมือง แต่อย่างไรก็ตามมีหลายหลักฐานที่ไม่ได้ปรากฏนามของ พระอินทร์อากรและไม่ได้เกี่ยวข้องกับเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) มีบางหลักฐานปรากฏว่าพระอินทร์อากรถูกเจ้าพระฝาง (เรือน) จับต้องโทษจนเสียชีวิต ต่อมาชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) จึงอ่อนแอลง ส่งผลให้เกิดการรุกรานของชุมนุมเจ้าพระฝาง (เรือน) ขึ้นจนตีเมืองเมืองพิษณุโลกแตกไปในที่สุด


ชุมนุมเจ้าพระฝาง (เรือน) เป็นชุมนุมของกบฏไพร่ ตั้งอยู่ที่วัดพระฝาง เมืองสวางคบุรี (เมืองฝาง) มีอาณาเขตทางเหนือถึงหัวเมืองแพร่และนาน เชื่อมต่อกับวัฒนธรรมระหว่างสยาม ล้านนา และล้านช้าง และอาณาณาเขตทางใต้ถึงหัวเมืองอุทัยธานีรุกล้ำเข้าแดนเมืองชัยนาท ดังปรากฏ "ด้วยเหล่าร้ายนั้นยกลงมาตระเวน ตีเอาข้าวปลาอาหาร เผาเรือนเสียหายหลายตำบล ไพร่บ้านพลเมืองได้รับความแค้นเคืองขัดสน”ซึ่งอาณาเขตทางใต้ได้มาจากการที่ชุมนุมเจ้าพระฝาง (เรือน) ผนวกกับชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) เจ้าพระฝาง (เรือน) ถูกกล่าวหาว่าเป็น “คนอาสัตย์อาธรรมฝ่ายเหนือ” เพราะเป็นพระภิกษุที่ย่ำยีพระธรรมวินัย

พระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่อง "เที่ยวตามทางรถไฟ" กล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ว่า เมื่อพม่ามาตีกรุงศรีอยุธยา ยกกองทัพมาทางเมืองกาญจนบุรี 1 ทาง ทางเมืองเชียงใหม่ 1 ทาง พม่าไม่กล้าไปตีเมืองพิษณุโลก ยกหลีกเลยมาทางเมืองสุโขทัย เจ้าพระยาพิษณุโลกยกกองทัพติดตามไปตีพม่า กำลังรบกันอยู่ทางเมืองพิษณุโลกมีพวกไทยด้วยกันชิงเมือง (หมายถึงเจ้าฟ้าจืด) เจ้าพระยาพิษณุโลกจึงล่าทัพกลับไปรักษาเมืองตามเดิม ครั้นไม่มีพระราชาธิบดีปกครองกรุงศรีอยุธยาแล้ว เจ้าพระยาพิษณุโลกตั้งชุมนุม เจ้าพระฝางยกกองทัพมาตีเมืองพิษณุโลก ต้องล้อมเมืองอยู่ 7 เดือนตีไม่ได้เมืองจึงล่าทัพกลับไป

เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมายกกองทัพหมายจะตีเมืองพิษณุโลกแต่ก็ถูกปืนต้องล่าทัพกลับ เจ้าพระยาพิษณุโลกจึงตั้งตัวเป็นใหญ่ได้ทำพิธีราชาภิเษกตั้งตัวขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ แต่เผอิญเกิดโรคที่ในคอ พอราชาพิเษกได้ 7 วันก็ถึงแก่พิราลัย เป็นเหตุให้คนทั้งหลายเห็นว่ายกตนเกินวาสนาเมืองพิษณุโลกจึงอ่อนแอลง เจ้าพระฝางได้ยกทัพมาอีกตั้งล้อมอยู่ 2 เดือนก็ได้เมืองพิษณุโลก

หมายเหตุ: หลวงโกษา (ยัง) เดิมเป็นเจ้าเมืองพิจิตร เป็นขุนนางที่สนิทสนมกับเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ซึ่งมาช่วยราชการในการสู้รบเสมอ หลังจากเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) รวบหัวเมืองและตั้งชุมนุมแล้วจึงแต่งตั้งให้หลวงโกษา (ยัง) เป็นทหารของตนเอง หลังจากชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) พ่าย จึงหลบหนีไปเมืองสวางคบุรีไปเป็นทหารของชุมนุมเจ้าพระฝาง (เรือน)

การปราบหัวเมืองเหนือ และการฟื้นฟูสู่กรุงธนบุรี พ.ศ. 2313

พ.ศ. 2313ตรงกับวันเสาร์เดือน 8 แรม 14 ค่ำ เดือนมิถุนายน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียกทัพไปตี ชุมนุมเจ้าพระฝาง (เรือน) และพม่า หัวเมืองเหนืออีกครั้งโดยแบ่งเป็น

  • 1. ทัพหลวงเป็นทัพเรือ กำลังพล 12,000 นาย สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เสด็จขึ้นไปถึงพิษณุโลกก่อนทัพบก 9 วัน ตีเมืองพิษณุโลกไปก่อน
  • 2. ทัพบกที่ 1 กำลังพล 5,000 นาย ให้ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (บุญมา) (ขณะนั้นทรงบรรดาศักดิ์เป็น "พระยายมราช") เป็นแม่ทัพ เดินทัพไปทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาและน้ำน่าน ซึ่งทัพบกที่ 1 เดินทางมาถึงก่อนทัพบกที่ 2 2 วัน
  • 3. ทัพบกที่ 2 กำลังพล 5,000 นาย ให้ เจ้าพระยาพิชัยราชา (ขณะนั้นบรรดาศักดิ์เป็น "พระยาพิชัยราชา") เป็นแม่ทัพ ให้เดินทัพไปทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาและน้ำน่านบรรจบกับทัพยกที่ 1 ที่พิษณุโลก

ชุมนุมเจ้าพระฝาง (เรือน) นับเป็นชุมนุมสุดท้ายที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีตีได้ ต่อมาสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดให้เดินทัพสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (บุญมา) ไปตีเมืองสวางคบุรี เมื่อทัพบกของเจ้าพระยาพิชัยราชามาถึงจึงให้รีบไปช่วยทัพของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (บุญมา) ตีเมืองสวางคบุรี

วันอาทิตย์ เดือน 9 แรม 7 ค่ำ เมื่อตีเมืองสวางคบุรีได้แล้ว มีชาวเมืองสวางคบุรีส่วนหนึ่งหนีขึ้นไปล้านนา ส่งผลให้ "โปมะยุง่วน" ขุนนางพม่าเชื้อพระวงศ์ เป็นอุปราชอาณาจักรล้านนา เจ้าผู้ครองเมืองเชียงใหม่ขณะนั้นทรงทราบสถานการณ์แล้วว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีสามารถรวบรวมประเทศเป็นอาณาจักรเดียวกันเรียบร้อยแล้วนับจากวันที่เริ่มกอบกู้อาณาจักร 6 พฤศจิกายน 2310 เป็นเวลานาน 2 ปี 10 เดือน

นามสถานที่ที่เกี่ยวข้อง

  • ถนนเจ้าพระยาพิษณุโลก อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก
  • ซอยโรจนกุล ตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ

อ้างอิง

เชิงอรรถ
  1. ชูศักดิ์ ศรีเพ็ญ, พลโท, และคณะ. บันทึกพระยาสัจจาภิรมย์อุดมราชภักดี (สรวง ศรีเพ็ญ) "เล่าให้ลูกฟัง". สืบค้น เมษายน, 2555
  2. เป็นราชทินนามสำหรับเจ้าพระยาหรือพระญาติพระวงศ์ครองเจ้าเมืองชั้นเอก เมืองพิษณุโลก ปรากฏในมลเฑียรบาลเรียกว่า นา 10000 กินเมืองทั้ง 4 ฝ่าย หรือ ท้าวพระยาหัวเมืองทั้ง 4
  3. พิเศศ บูรณะสมบัติ. 2547. ประวัติศาสตร์การปกครองของไทย (ตั้งแต่สมัยเริ่มแรกถึงเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตย พ.ศ. 2475). กรุงเทพฯ : รวมสาส์น (1977).
  4. ขุนนางชั้นเอกของราชอาณาจักรที่มีศักดิระดับนา 10000 ในสมัยอยุธยายังแบ่งเป็น เอกอุ หรือ เอกอุตม (เอกสมบูรณ์) เอกม. หรือ เอกมัธยม (เอกระดับกลาง) และ เอกส. หรือ เอกสามัญ (เอกสามัญ)
  5. นามสกุลพระราชทาน. พระราชวังพญาไท. หมวดอักษร ร. ลำดับที่ 368
  6. นามสกุลพระราชทาน ร.ศ.113-124 (ค.ศ.1894-1905)‎. นามสกุลที่ขึ้นต้นด้วย (ร)
  7. ภูมิพิสัยพิสุทธิวรพงศ์-ร..๒นามสกุลพระราชทาน-ร..๒
  8. 10 นามสกุลเก่าแก่ของไทย. Facebook คลังประวัติศาสตร์ไทย
  9. กี อยู่โพธิ์, ปรีดา ศรีชลาลัย, และวิลเลียม เจ. เก็ดนีย์. บทละครรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์พระจันทร์, 2484. หน้า 200.
  10. เรื่องตั้งเจ้าพระยาในกรุงรัตนโกสินทร์. [ม.ป.ป]
  11. Mishra, Patit Paban. (2010). History of Thailand. California: Greenwood. pp. 69-70
  12. W.A.R. WOOD, cut. H.B.M., CONSUL-GENERAL, CHIENGMAI. (1924). A History Of Siam: From The Earliest Times To The Year A. D. 1781. Bangkok : Chalermnit Press. pp. 255-256.
  13. Bowrings, Sir John. (1855). THE KINGDOM AND PEOPLE OF SIAM: WITH A NARRATIVE OF THE MISSION TO THAT COUNTRY IN 1855. VOLUME I. London : John W. Parker and Son, West Strand. pp. 67.
  14. จุลจักรพงษ์. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๕ พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม). กรุงเทพฯ : เดลิเมล์, 2480. พิมพ์แจกงานพระราชทานเพลิงศพ นายพันเอก พระยาสิริจุลเสวก (พัว จุลเสวก) ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม.
  15. สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์, เล่มที่ 53, ฉบับที่ 10-18.
  16. ศิลปากร. เล่มที่ 48 ฉบับที่ 1-3.
  17. ธรรม คามน์ โภวาที. อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพนาย รง ทัศนาญชลี (ป.ช. ป.ม.) ณ ฌาปนสถาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ วัดตรีทศเทพวรวิหาร 15 กรุงเทพมหานคร 2544. กรุงเทพฯ : [ม.ป.ท.], 2554. 206 หน้า.
  18. หวน พินธุพันธ์. พิษณุโลกของเรา. พระนคร : กรุงสยามการพิมพ์, 2514. หน้า 21.
  19. Lt. Gen. Sir Arthur P. Phayre (1883). History of Burma (1967 ed.). London: Susil Gupta. pp. 188–190.
  20. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 64 พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
  21. นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. กรุงเทพฯ : มติชน, 2529. หน้า 51-52.
  22. คณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี. ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2542.
  23. เพลิง ภูผา. รัฐประหารยึดบัลลังก์กษัตริย์บนแผ่นดินอยุธยา. กรุงเทพฯ : เจ้าพระยา, 2557. หน้า 185.
  24. ส. พลายน้อย. สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย. กรุงเทพฯ : บำรุงสาส์น, 2517. 508 หน้า.
  25. วิบูล วิจิตรวาทการ. สตรีสยามในอดีต. กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2543. 359 หน้า.
  26. ดำรงราชานุภาพ.สมเด็จกรมพระยา. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 6 เรื่องไทยรบพม่าครั้งกรุงเก่า.สงครามครั้งที่ 24 คราวเสียกรุงครั้งหลัง. กรุงเทพฯ : อักษรนิติ์, 2460.
  27. GE Harvey (1925). History of Burma. London: Frank Cass & Co. Ltd.. pp. 250–254.
  28. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, "ปฐมวงศ์" ประชุมพงศาวดาร เล่ม 8, (พระนคร : ก้าวหน้า, 2507), หน้า 231.
  29. Bowring , Sir John. The Kingdom and People of Siam. Vol 1 , Oxford University Press , 1969.
  30. วสินธ์ สาริกะภูติ, พลเรือเอก. "สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตอนหักคีมพม่าและเสือพบสิงห์" นาวิกศาสตร์ สำนักงานราชนาวิสภา. 91(8) : 6 - 12 : สิงหาคม 2551.
  31. จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี หน้า ๙๐ ข้อที่ ๒๐
  32. ชัยฤกษ์ ไชยโกมินทร์, พลเอก. ประเด็นพระยาตากเป็นกบฏ.
  33. นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. กรุงเทพฯ : เรือนแก้วพิมพ์, 2527.
  34. กหช.จดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 จ.ศ.1199 เลขที่ 75
  35. แสงเพชร. สิ้นชาติ กู้แผ่นดิน จลาจลบนแผ่นดินพระเจ้าตาก. กรุงเทพฯ : วันชนะ, 2549.
  36. กี อยู่โพธิ์, ปรีดา ศรีชลาลัย, และวิลเลียม เจ. เก็ดนีย์. บทละครรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์พระจันทร์, 2484. หน้า 200.
  37. วนรัตน์, พระ, พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาภาษามคธและคำแปล, พระยาพจนสุนทร แปล, พระนคร, พิมพ์ในงานศพท่านเลื่อม บุนนาค 2459, หน้า 32-33
  38. สังคีติยวงศ์ พงศาวดาร เรื่องสังคายนาพระธรรมวินัย สมเด็จพระวันรัตน์ วัดพระเชตุพน ในรัชกาลที่ ๑.กรุงเทพฯ :ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศิวพร , 2521.
  39. กี อยู่โพธิ์, ปรีดา ศรีชลาลัย, และวิลเลียม เจ. เก็ดนีย์. บทละครรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์พระจันทร์, 2484. หน้า 200.
  40. สมเด็จพระปฐมกษัตริย์ (ทองด้วง) แห่งราชวงศ์จักรี
  41. กรมศิลปากร. 2530 : 20
  42. ประชุมพงศาวดารภาคที่ 65-66 เล่มที่ 40 , 2512 : 46 และขวัญเมือง จันโรจนี : 33
  43. วาปีบุษบากร, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้า. "เรื่องเมืองพิษณุโลก" พระนิพนธ์สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2496. หน้า 28 - 30.
บรรณานุกรม
  • จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ, ๒๓๙๖ - ๒๔๔๓. จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี พิมพ์พร้อมกับฉบับเพิ่มเติม (พ.ศ. ๒๓๑๐ - ๒๓๘๑) และพระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลลอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (เฉพาะตอน พ.ศ. ๒๓๑๐ - ๒๓๖๓). พิมพ์ครั้งที่ 7, กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2560. 400 หน้า. หน้า 2. ISBN 978-616-283-353-3
  • สัจจาภิรมย์ อุดมราชภักดี (สรวง ศรีเพ็ญ), พระยา. เล่าให้ลูกฟัง : ชีวิตข้าราชการมหาดไทยยุคใกล้อวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์. พิมพ์ครั้งที่ 1, กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มติชนปากเกร็ด, 2557. 276 หน้า. หน้า 21. ISBN 978-974-021-264-5
  • ศรีนิล น้อยบุญแนว, บก. พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี แผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาที่ 4 (สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) ฉบับหมอบรัดเล จุลศักราช 1128 - 1144. กรุงเทพฯ : กรมตำรา กระทรวงธรรมการ, 2472.
  • ส. พลายน้อย (นามแฝง). สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย. กรุงเทพฯ : พิมพ์คำ, 2553. 512 หน้า. หน้า 105-106. ISBN 978-616-500-020-8
  • ภาณุพันธุวงศ์วรเดช, จอมพลสมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมพระยา. พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ภาค 1.กรุงเทพฯ : (ม.ป.ท.), 2455.
  • ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. ไทยรบกับพม่าฉบับรวมเล่ม. พระนคร : ศิลปาบรรณาคาร, 2524.
  • ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. พระราชพงศาวดารรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 1 – 2. พระนคร : คุรุสภา, 2505.
  • จรรยา ประชิตโรมรัน. การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๓๑๐. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2547.
  • นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. กรุงเทพฯ : มติชน, 2550.
  • นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. กรุงเทพฯ : เรือนแก้วพิมพ์, 2527.
  • สุเนตร ชุตินธรานนท์. สงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2310) : ศึกษาจากพงศาวดารพม่า ฉบับราชวงศ์คองบอง. กรุงเทพฯ : สยาม, 2541.
  • วิจารณ์ พานิช. (2550). สนุกกับภาษาไทย – ภาษาอัชฌาไศรย 44. ชายคาภาษาไทย (23). สืบค้นเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน, 2555.
  • สมบัติ ปลาน้อย. ขุนนางสยาม. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน. 2541. 271 หน้า
  • กฤตภาส โรจนกุล. โรจนกุล ชีวประวัติและเชื้อสายสัมพันธ์. กรุงเทพฯ : [ม.ป.ท.], 2554.
  • สมชาย เดือนเพ็ญ. ประวัติศาสตร์ชุมชนเมืองและอำเภอจังหวัดสุโขทัย.
  • สุเนตร ชุตินธรานนท์. สงครามเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2310) ศึกษาจากพงศาวดารพม่า ฉบับราชวงศ์คองบอง. กรุงเทพฯ : สองสยาม, 2531.
  • รายงานผลสัมมนาประวัติศาสตร์เมืองพิษณุโลกครั้งที่ 2. วิทยาลัยครูพิบูลสงคราม พิษณุโลก. กรุงเทพฯ : คุรุสภา, 2527.
  • มานพ ถาวรวัฒน์สกุล. ขุนนางกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและการปกครองในสมัยอยุธยา. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต, ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์, 2530.
  • เมืองพิษณุโลก. ม.ป.ท. , ม.ป.ป. , พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ร.อ.พูน เสาว์ภายน, 2504.
  • พระราชพงศาวดารกรุงสยาม ฉบับบริติสมิวเซียม. พระนคร : อักษรสัมพันธ์, 2507.
  • พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพัน จันทนุมาศ. พระนคร : คุรุสภา, 2512.
  • กหช.จดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 , จ.ศ.1199 , เลขที่ 75 จดหมายเหตุบันทึกเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ 62 ปี.
The contents of this page are sourced from Wikipedia article. The contents are available under the CC BY-SA 4.0 license.
Lists
Chao Phraya Phitsanulok (Rueng Rochonkul) is in following lists
comments so far.
Comments
From our partners
Sponsored
Credits
References and sources
Chao Phraya Phitsanulok (Rueng Rochonkul)
arrow-left arrow-right instagram whatsapp myspace quora soundcloud spotify tumblr vk website youtube pandora tunein iheart itunes