Anucha Buraphaphaisri
Quick Facts
Biography
อนุชา บูรพชัยศรี เป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ) เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร สองสมัย เป็นนักธุรกิจที่ก้าวสู่วงการการเมืองในปี พ.ศ. 2550 หลังจากทำงานภาคเอกชนมากว่า 20ปี ด้านธุรกิจเครื่องจักรกลหนักที่ใช้ในงานก่อสร้าง
ประวัติการศึกษา
- ปริญญาโท คณะบริหารธุรกิจ สาขาการเงินและการตลาด สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ปริญญาโท(ดีเด่น) คณะวิทยาศาสตร์ สาขาการพลังงานและการเผาไหม้ มหาวิทยาลัยลีดส์ (University of Leeds) ประเทศอังกฤษ
- ปริญญาตรี(เกียรตินิยม) คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมเครื่องกล จากมหาวิทยาลัยอเดเลด (The University of Adelaide) ประเทศออสเตรเลีย
- มัธยมศึกษาตอนปลาย เซเครทฮาร์ท คอลเลจ (Sacred Heart College) ประเทศออสเตรเลีย
- มัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก
งานการเมือง
อนุชาลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2550 ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อครั้งเขตเลือกตั้งยังเป็นแบบเขตใหญ่ (แบบทีม 3คน) ร่วมกับนายกรณ์ จาติกวณิช และนายสมเกียรติ ฉันทวานิช และได้รับการเลือกตั้งเข้าสภาฯยกทีมทั้งสามคน
ในปี พ.ศ. 2553 หลังจากที่นายสมเกียรติ ฉันทวานิชได้ถูกศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาให้พ้นจากตำแหน่งในคดีถือครองหุ้นบริษัทสัมปทานรัฐ นายอภิรักษ์ โกษะโยธินได้ลงสมัครเลือกตั้งซ่อม และได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเวลาต่อมา และอนุชาได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการเลือกตั้งซ่อมในครั้งนั้น
ต่อมาในปี พ.ศ. 2554 อนุชาลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งที่สอง หลังมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเขตเลือกตั้งมีการปรับเปลี่ยนเป็นแบบเขตเล็ก (แบบเขตเดียวคนเดียว) และอนุชาได้รับการเลือกตั้งเข้าสภาฯเป็นสมัยที่สอง
อนุชาใช้ความรู้ และประสบการณ์จากภาคเอกชนในการเสนอ และผลักดันนโยบายด้านเศรษฐกิจต่างๆ โดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม โลจิสติกส์ และด้านอุตสาหกรรม และมีบทบาทในการพิจารณากฎหมายสำคัญๆ อาทิเช่น ร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศฯ (กฎหมาย 2ล้านล้านบาท) การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ และการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี เป็นต้น
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 อนุชาได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นครั้งที่สาม แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง
ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ณัฎฐพล ทีปสุวรรณ)
- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ 2 สมัย (2550,2554)
- เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ)
- รองประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร
- เลขานุการคณะกรรมาธิการการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร
- คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล)
- ประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณา และติดตามนโยบายรัฐบาล คณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร
- รองประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณากลั่นกรอง และติดตามผลการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร
- รองประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาติดตามผลการปฏิบัติงานของการท่าเรือแห่งประเทศไทยฯ
- รองประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณอาคารพาณิชย์และตลาดคลองเตยฯ
- รองประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาแก้ไขปัญหาจุดตัดทางแยกระหว่างทางหลวงและทางรถไฟ
- อนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาและพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทยฯ
- ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน)
- ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการติดตามการบริหารงบประมาณ เขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล สภาผู้แทนราษฎร
- ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับเศรษฐกิจมหภาค และเศรษฐกิจระหว่างประเทศฯ
- รองประธานกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย-ออสเตรเลีย
- เลขานุการกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย-รัสเซีย
- กรรมการบริหารกลุ่มรัฐสภาไทยในสหภาพสมาชิกรัฐสภาเอเชียและแปซิฟิก
- คณะกรรมการนโยบายพรรค พรรคประชาธิปัตย์
- รองโฆษกด้านเศรษฐกิจ พรรคประชาธิปัตย์
- ผู้ช่วยเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์
งานภาคเอกชน
- กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมโทรเอ็นจิเนียริ่งแอนด์แมชชีนเนอรี่ จำกัด
- กรรมการบริหาร บริษัทในกลุ่มเอ็มอีซี
งานสังคม
- นายกสโมสรโรตารี่กรุงเทพ ปี 2551-2552
- อุปนายกสโมสรกีฬายานนาวา
- กรรมการสมาคมไทย ออสเตรเลียนฯ
- กรรมการสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษฯ
- กรรมการสมาคมนิสิตเก่า สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
- พ.ศ. 2556 -เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)
- พ.ศ. 2553 -เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้น 1 ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)
- พ.ศ. 2552 -เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้น 1 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.)