Aiam Bunnag
Quick Facts
Biography
เจ้าจอมเอี่ยม ในรัชกาลที่ 5 (12 พฤษภาคม พ.ศ. 2416 - 22 มีนาคม พ.ศ. 2495) เป็นบาทบริจาริกาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพี่น้องหนึ่งในห้าคนในเจ้าจอมก๊กออ มีพระเจ้าลูกเธอที่ตกพระโลหิต ยังไม่เป็นพระองค์ จำนวน 2 พระองค์
เจ้าจอมเอี่ยม เกิดในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อวันจันทร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา เบญจศก จ.ศ. 1235 ตรงกับวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2416 เป็นบุตรคนที่7 ในจำนวน 14 คน ของเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศ บุนนาค) ที่เกิดกับท่านผู้หญิงอู่ มีพี่น้องร่วมบิดาทั้งสิ้น 62 คน โดยในจำนวนนี้ มี 5 คน ที่เกิดจากท่านผู้หญิงอู่ (สกุลเดิม วงศาโรจน์) และได้เป็นเจ้าจอมในรัชกาลที่ 5 คือ เจ้าจอมมารดาอ่อน เจ้าจอมเอี่ยม เจ้าจอมเอิบ เจ้าจอมอาบ และเจ้าจอมเอื้อน
เจ้าจอมเอี่ยมเข้าถวายตัวรับราชการฝ่ายในเมื่อ พ.ศ. 2429 เมื่ออายุได้ 13 ปี เป็นผู้มีฝีมือในการทำอาหาร มีหน้าที่เป็นผู้ช่วยทำเครื่องเสวยของพระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ถวายงานนวดพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในเวลาเข้าที่พระบรรทม เป็นที่สบพระราชหฤทัย ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาหลายครั้ง
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต เจ้าจอมเอี่ยมได้พำนักอยู่ที่ตำหนักในวังสวนสุนันทา ต่อมาภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ได้ย้ายไปมาอยู่ที่เรือนสร้างใหม่ริมคลองสามเสน กับถนนสามเสน สร้างบนที่ดินพระราชทานแก่เจ้าจอมก๊กกออ ที่เรียกว่า "สวนนอก" ท่านเจ้าจอมเอี่ยม ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2495 ด้วยโรคหัวใจโต สิริอายุ 79 ปี
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
- พ.ศ. 2447 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) (ฝ่ายใน)
- พ.ศ. 2445 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 5 ชั้นที่ 2 (จ.ป.ร.2)
- พ.ศ. 2463 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 6 ชั้นที่ 2 (ว.ป.ร.2)
อ้างอิง
- กัณฑาทิพย์ สิงหะเนติ. ย้อนรอยเจ้าจอมก๊กออ ในรัชกาลที่ ๕. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2549. 416 หน้า.ISBN 974-7383-97-7
- วรรณพร บุญญาสถิตย์. จอมนางแห่งสยาม ในสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 6 กับกระแสวัฒนธรรมตะวันตก. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์สร้างสรรค์บุ๊คส์, พ.ศ. 2549. 338 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 874-341-471-1
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จุลจอมเกล้าฝ่ายใน, เล่ม ๒๑, ตอน ๓๔ล ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๗, หน้า ๖๑๖
- ↑ พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ฝ่ายใน เก็บถาวร 2015-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 18 หน้า 875 วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 120
- ↑ พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ฝ่ายใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 37 หน้า 3732