Phuang Soowannarad

The basics

Quick Facts

Birth11 July 1911
Death10 November 2000 (aged 89 years)
Star signCancer
The details

Biography

นายพ่วง สุวรรณรัฐ (11 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 - 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543) เป็นอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร และรัฐบาลศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ และเป็นอดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย

ประวัติ

นายพ่วง สุวรรณรัฐ เกิดเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 ณ อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นบุตรของนายรื่น และนางทองอยู่ สุวรรณรัฐ มีพี่น้องร่วมบิดา-มารดา 2 คนคือ ขุนสุวรรณรัตนราช (เชย สุวรรณรัฐ) และนางแช่ม ณ นคร จบชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ระดับอุดมศึกษาเริ่มที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2475 จนถึงชั้นปีที่ 2 จึงโอนไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง จนสำเร็จการศึกษา และได้รับพระราชทานปริญญาธรรมศาสตรบัณฑิตในปี พ.ศ. 2477 นายพ่วง สุวรรณรัฐ ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2543 ณ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ กรุงเทพมหานคร สิริรวมอายุ 89 ปี 4 เดือน

ชีวิตครอบครัว

นายพ่วง สุวรรณัฐ สมรสกับท่านผู้หญิงประสารสุวรรณ สุวรรณรัฐ (นามเดิม : หม่อมราชวงศ์ประสารสุวรรณ ทองแถม) เป็นธิดาของหม่อมเจ้าทองเชื้อธรรมชาติ ทองแถม กับหม่อมเจ้าพันธ์สิหิงค์ ทองใหญ่ เมื่อปี พ.ศ. 2484 มีบุตรธิดา 5 คน คือ

  1. ท่านผู้หญิงพรรณวดี จุฑารัตนกุล นางสนองพระโอษฐ์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมรสกับ นายจเร จุฑารัตนกุล อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นพ่อและสามีของนักแสดงสาวรุ่นใหญ่ชื่อดัง อ้อม พิยดา จุฑารัตนกุล
  2. นางพิยดา สุวรรณรัฐ ประกอบอาชีพอิสระ สมรสกับนายเฮนริค แลงเฟลด์
  3. นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี สมรสกับท่านผู้หญิงทัศนียา (โฆวินทะ)
  4. นางภราไดย สุวรรณรัฐ สมรสกับ นายทินกร หิรัญพฤกษ์ ซึ่งมีลูกชายเป็นดารานักแสดงหนุ่ม "ภูริ หิรัญพฤกษ์"
  5. นายพระนาย สุวรรณรัฐ สมรสกับ ทิพวิภา กัมปนาทแสนยากร

บทบาทการเมือง

นายพ่วง สุวรรณัฐ เป็นข้าราชการฝ่ายปกครอง เคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ในระหว่างปี พ.ศ. 2495 ถึงปี พ.ศ. 2501 มีผลงานที่โดดเด่นคือ ด้านการปราบปราม กรณีปิดล้อมตลาดนัดท่ามกลางคนนับพัน ปิดล้อมหมู่บ้าน ฉุดเอาครูหญิงไปทำมิดีมิร้ายกลางวัน ปล้นเรือโดยสารในทะเลสาบและทะเลหลวง ตั้งก๊กเก็บเงินค่ารักษาความเรียบร้อยจากบ้านเรือนหลังละห้าสิบสตางค์ต่อเดือน

นายพ่วง เคยได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาในวุฒิสภาไทย ชุดที่ 3 และวุฒิสภาไทย ชุดที่ 4

ต่อมาเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย ในระหว่างปี พ.ศ. 2511 ถึงปี พ.ศ. 2515 และในเดือนธันวาคมของปีเดียวกัน นายพ่วง ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร (ครม.32) และในรัฐบาลศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ (ครม.33)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

พ่วง สุวรรณรัฐ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้งไทยและต่างประเทศ ดังนี้

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย

  • พ.ศ. 2511 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)
  • พ.ศ. 2508 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)
  • พ.ศ. 2509 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) (ฝ่ายหน้า)
  • พ.ศ. 2531 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ
  • พ.ศ. 2486 – เหรียญชัยสมรภูมิ สงครามมหาเอเชียบูรพา (ช.ส.)
  • พ.ศ. 2517 – เหรียญพิทักษ์เสรีชน ชั้นที่ 1 (ส.ช.)
  • พ.ศ. 2485 – เหรียญช่วยราชการเขตภายใน การรบสงครามอินโดจีน (ช.ร.)
  • พ.ศ. 2502 – เหรียญราชการชายแดน (ช.ด.)
  • พ.ศ. 2502 – เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)
  • พ.ศ. 2501 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 ชั้นที่ 3 (ภ.ป.ร.3)
  • พ.ศ. 2511 – เหรียญราชรุจิทอง รัชกาลที่ 9 (ร.จ.ท.9)
  • พ.ศ. 2504 – เหรียญกาชาดสมนาคุณ ชั้นที่ 1 (เหรียญทอง)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ

  •  เนเธอร์แลนด์ :
    • พ.ศ. 2507 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์ออเรนจ์-นัสเซา ชั้นที่ 2
  •  เบลเยียม :
    • พ.ศ. 2507 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎเบลเยียม ชั้นที่ 2
  •  มาเลเซีย :
    • พ.ศ. 2507 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์ปังกวน เนการา ชั้นที่ 3
  •  ญี่ปุ่น :
    • พ.ศ. 2509 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์มงคลรัตน์ ชั้นที่ 2
  •  ไต้หวัน :
    • พ.ศ. 2509 – เครื่องอิสริยาภรณ์ดาราอันสุกสกาว ชั้นที่ 2
  •  สวีเดน :
    • พ.ศ. 2509 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์ดาวขั้วโลก ชั้นที่ 3 ตริตาภรณ์

อ้างอิง

The contents of this page are sourced from Wikipedia article on 25 Apr 2024. The contents are available under the CC BY-SA 4.0 license.